Ottoman Empire

จักรวรรดิออตโตมัน

​​     ​​​​จักรวรรดิออตโตมันหรือเป็นที่รู้จักกันในนามจักรวรรดิตุรกี (Turkish Empire) หรือตุรกี (Turky) เป็นจักรวรรดิอิสลามที่มีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดที่ครอบคลุมดินแดนถึง ๓ ทวีป ได้แก่ เอเชียตะวันตก ยุโรปตะวันออก และแอฟริกาเหนือมีศูนย์กลางอยู่ ณ สาธารณรัฐตุรกีปัจจุบัน หรือ ในอดีตคือดินแดนที่อยู่ในปกครองของจักวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) หรือจักรวรรดิ โรมันตะวันออก (Eastern Roman Empire) หรือจักรวรรดิกรีก (Greek Empire) จักรวรรดิออตโตมันก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. ๑๒๙๙ และมีอายุยืนยาวจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๒ เมื่อมีการยุบตำแหน่งสุลต่าน (Sultan) พวกเติร์กหรือออตโตมัน (Ottoman) ได้แผ่อำนาจจากเอเชียและเข้ายึดครองจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ใน ค.ศ. ๑๔๕๓ และอียิปต์ใน ค.ศ. ๑๕๑๖ ต่อมา ได้รับการยอมรับเป็นประเทศ มหาอำนาจหนึ่งของยุโรปในสมัยสุลต่านสุไลมานที่ ๑ (Suleiman I ค.ศ. ๑๕๒๐-๑๕๖๖) หรือสุลต่านสุไลมานผู้เกรียงไกร (Suleiman the Magnificent) แต่การพ่ายแพ้ของกองทัพเติร์กในการยึดครองกรุงเวียนนา นครหลวงของออสเตรียใน ค.ศ. ๑๖๘๓ รวมทั้งยังถูกขับออกจากฮังการีในเวลาไล่เลี่ยกันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการล่าถอยของพวกเติร์กจากทวีปยุโรปและเป็นการสิ้นสุดของ การขยายตัวของจักรวรรดิในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จักวรรดิออตโตมันได้รับสมญานามว่า "คนป่วยแห่งยุโรป" (The Sick Man of Europe) ที่รอวันที่จักรวรรดิจะล่มสลายลงส่วนดินแดนในปกครองเหลือเพียงเฉพาะในเอเชียไมเนอร์ [บริเวณเขตอะนาโตเลีย (Anatolia) ในตุรกีปัจจุบัน] บางส่วนของคาบสมุทรบอลข่าน (Balkan) และภูมิภาคตะวันออกกลางเท่านั้นทั้งยังต้อง เสียดินแดนเพิ่มเติมอีกในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* จากการเข้าร่วมรบเป็นฝ่ายเยอรมนีเมื่อสงครามสิ้นสุดลงได้ถูกกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดครองจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๒ ก่อนถูกกองกำลังชาตินิยมที่มีมุสตาฟา เคมาล ปาชา (Mustafa Kemal Pasha) ขับไล่อีก ๑ ปีต่อมาตุรกีก็จัดตั้งเป็นประเทศสาธารณรัฐ
     ประวัติศาสตร์ของพวกเติร์กกับความสัมพันธ์ กับดินแดนยุโรปตะวันออกเริ่มต้นพร้อม ๆ กับการเสื่อมอำนาจของจักรวรรดิไบแซนไทน์ และการเผยแพร่ศาสนาอิสลามของชนเผ่าเติร์กในเอเชียไมเนอร์ (Asia Minor) หรือตะวันออกใกล้ (Near East) หลังยุทธการที่เมืองแมนซีเคิร์ต (Battle of Manzikert) ใน ค.ศ. ๑๐๗๑ ซึ่งจักรพรรดิโรมานุสที่ ๔ (Romanus IV ค.ศ. ๑๐๖๘-๑๐๗๑) แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ทรงพ่ายแพ้แก่ชนเผ่าเซลจูกเติร์ก (Seljuk Turk) และทรงถูกจับกุม อิทธิพลของพวกเติร์กก็เริ่มแพร่กระจายไปทั่วดินแดนตะวันออกและตอนกลางของอะนาโตเลียใน ค.ศ. ๑๐๗๗ พวกเซลจูกเติร์กยังสามารถสถาปนาอาณาจักรสุลต่านแห่งรูน (Sultanate of Rûm) ขึ้นในตอนกลางของอะนาโตเลียโดยประมุขมีฐานะเป็น "สุลต่าน" และมีอำนาจสูงสุดในการปกครองพวกมุสลิมและชนเผ่าต่าง ๆ ในบริเวณนั้นการจัดตั้งอาณาจักรของพวกเซลจูกเติร์กยังเป็นภัยต่อคริสต์ศาสนิกชนที่เดินทางไปจาริกบุญที่นครเยรูซาเลม (Jerusalem) อีกด้วย จนในที่สุดจักรพรรดิอะเล็กซีอุสที่ ๑ คอมนีนุส (Alexius I Comnenus ค.ศ. ๑๐๘๑-๑๑๑๘) แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ต้องส่งสาส์นไปขอความช่วย เหลือจากสันตะปาปาเออร์บานที่ ๒ (Urban II ค.ศ. ๑๐๘๘-๑๐๙๙) ให้ส่งกองทัพคริสเตียนไปช่วยปราบปรามมุสลิม อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครูเสด (Crusades) ครั้งที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๐๙๖ ซึ่งเป็นสงครามศาสนาและเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของยุโรปสมัยกลาง (Medieval Europe) และเป็นสงครามระหว่างกองทัพคริสเตียนกับกองทัพมุสลิมที่ยืดเยื้อยาวนานจนถึง ค.ศ. ๑๒๙๑
     การเข้ามามีอำนาจของพวกเซลจูกเติร์กในอะนาโตเลียได้เปิดโอกาสให้ชนเผ่าเติร์กอื่น ๆ ซึ่งแต่เดิมตั้งถิ่นฐานในเอเชียกลางแถบเทือกเขาอัลไตอพยพเข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งชนเผ่ากายี (Kayi) ที่เป็นบรรพบุรุษของพวกออตโตมันด้วย พวกกายีอพยพจากเอเชียกลางเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเปอร์เซีย (Persia ปัจจุบันคือประเทศอิหร่าน) นานนับร้อยปี ต่อมา ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ เมื่อพวกมองโกล (Mongol) เข้ารุกรานเปอร์เซีย เอร์ตูกรูอัล (Ertugrual) ซึ่งเป็นผู้นำ (Bey) จึงพาเผ่าของตนหนีภัยมายังอะนาโตเลีย ระหว่างทางเขาได้ประสบกับกองกำลังของ ๒ ฝ่าย ขณะกำลังทำศึกกันอยู่ เอร์ตูกรูอัลตัดสินใจเข้าช่วยฝ่ายที่กำลังเพลี่ยงพล้ำจนสามารถพลิกสถานการณ์ให้กลายเป็นผู้ชนะได้ในที่สุด กองกำลังที่เขาให้ความช่วยเหลือบังเอิญเป็นกองทัพสุลต่าน ดังนั้น สุลต่านจึงพระราชทานดินแดนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในแคว้นเอสกิเชฮีร์ (Eskisehir) ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันตกของอาณาจักรให้แก่เอร์ตูกรูอัล ต่อมาใน ค.ศ. ๑๒๘๑ เมื่อเอร์ตูกรูอัลถึงแก่กรรมออสมัน (Osman) บุตรชายก็ได้สืบทอดตำแหน่งผู้นำ
     หลัง ค.ศ. ๑๒๙๓ เมื่อพวกมองโกลสามารถชนะกองทัพของสุลต่านและทำให้อาณาจักรสุลต่านแห่งรูนเสื่อมอำนาจลง ดินแดนต่าง ๆ ที่อยู่ในปกครองของสุลต่านและไม่ได้ถูกกองทัพมองโกลยึดครองจึงเห็นเป็นโอกาสประกาศตนเป็นราชรัฐอิสระ เรียกว่า กาซี เอมิเรต (Ghazi emirates) รวมทั้งดินแดนภายใต้การนำของออสมันด้วย การขึ้นครองอำนาจของออสมันในฐานะ ประมุขของราชรัฐอิสระนับเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาจักรวรรดิออตโตมันในเวลาต่อมา ในปลาย ทศวรรษ ๑๒๙๐ ออสมันได้เป็นผู้นำในการพาพวกกาซี (Gazi) หรือพวกนักรบเพื่อศาสนาทำ "สงครามศาสนา" (Gaza) กับจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่ อ่อนแอ พวกกาซีถือว่าการทำสงครามกับพวกนอกศาสนาหรือชาวคริสเตียนเป็นการแสดงศรัทธาสูงสุดแด่อัลลอฮ์ (Allah) ในฐานะชาวมุสลิม ในเวลาไม่ช้า ออสมันกับพวกกาซีก็สามารถยกกองทัพเข้ายึดครองดินแดนตะวันตกของอะนาโตเลียที่อยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ เหล่าทหารซึ่งเป็นชาวเติร์กเผ่าต่าง ๆ ที่สนับสนุนออสมันมีชื่อเรียกว่า "พวกออสมันลีลาร์" (Osmanlilar) ในภาษาเติร์ก หมายถึง "บุคคลที่เกี่ยวข้องกับออสมัน" หรือเรียก อีกชื่อว่า "ออตโตมัน" ต่อมา ออสมันก็สามารถยึดเอสกิเชฮีร์และขยายพรมแดนจนถึงที่ ราบอิซนิก (Iznik) หรือไนเซีย (Nicaea) และจักรวรรดิที่ พวกเขาจัดตั้งขึ้นเรียกว่า "จักรวรรดิออตโตมัน" ผู้สืบเชื้อสายของออสมันหรือสมาชิกของราชวงศ์ออสมัน (House of Osman) หรือออสมันลี (Osmanli) ก็ได้สืบทอดบัลลังก์ในฐานะสุลต่านติดต่อกัน ๖๒๓ ปีจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๒ ส่วนสุลต่าน ออสมันก็กลายเป็นวีรบุรุษในตำนานของพวกเติร์กจนถึงปัจจุบัน คำพูดที่ว่า "ขอให้จงดีเท่ากับออสมัน" เป็นพรติดปากชาวเติร์กนานนับศตวรรษพอ ๆ กับเรื่องราว "ความฝันของออสมัน" ในการใช้กำลังเพื่อสร้าง จักรวรรดิมุสลิมก็เป็นที่นิยมเล่ากันในหมู่ชาวเติร์กในสมัยกลางด้วย
     หลังจากสุลต่านออสมันสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๓๒๖ โอร์ฮัน (Orhan ค.ศ. ๑๓๒๖-๑๓๖๒) โอรสก็ได้สืบทอดตำแหน่งสุลต่าน สุลต่านโอร์ฮันสามารถเข้ายึดครองเมืองบูร์ซา (Bursa) ได้สำเร็จหลังจากพยายามโจมตีเป็นเวลาหลายปี และจัดตั้งเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิ การยึดครองบูร์ซาได้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงมาสู่พวกออตโตมัน ทำให้พวกออตโตมันยุติการใช้ชีวิตแบบชนเผ่าเร่ร่อนและสร้างบ้านแปงเมืองก่อให้เกิดพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านการปกครอง การคลังและโดยเฉพาะการทหาร เมื่อมีการขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนของพวกที่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้พวกกาซีไม่เต็มใจที่ จะออกรบกับพวกมุสลิมด้วยกัน จึงต้องมีการจัดตั้งกองทัพใหม่ขึ้นอีกกลุ่มหนึ่งใน ค.ศ. ๑๓๓๐ ซึ่งเรียกว่าจานิสซารี (janissaries) เป็นกองทัพทหารที่มาจากทาสชาวคริสเตียนที่ตกเป็นเชลยศึกหรือถูกซื้อมา และต่อมาได้มีการเรียกร้องให้ดินแดนยุโรปที่ตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของจักรวรรดิออตโตมันส่งเด็กผู้ชายเป็นบรรณาการเพื่อนำมาเปลี่ยนศาสนาและฝึกอบรมให้เป็นมุสลิมที่จงรักภักดีและเป็นทหารที่เข้มแข็งและมีระเบียบวินัยที่สุดที่ขึ้นตรงต่อสุลต่านแต่พระองค์เดียว พวกจานิสซารีถูกห้ามไม่ให้แต่งงานและให้อุทิศทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อทำสงครามและปกป้องสุลต่าน นับเป็นกองทหารราบที่ทรงพลังของกองทัพออตโตมัน ในปลายรัชสมัยสุลต่านโอร์ฮันทหารจานิสซารีมีจำนวน ๑๐,๐๐๐ คน และเพิ่มมากขึ้นในรัชกาลต่อ ๆ มา
     ในช่วงปลายรัชสมัยสุลต่านโอร์ฮัน พวกออตโตมันสามารถพิชิตและยึดครองคาบสมุทรกัลลิโพลี (Gallipoli) ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปยุโรปทางตะวันตกของช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles)* ได้ใน ค.ศ. ๑๓๕๔ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๓๕๗ ได้ขยายอำนาจครั้งใหญ่เข้ามาในยุโรปโดยใช้เส้นทางผ่านช่องแคบบอสพอรัส (Bosporus)* และเข้ายึดครองมาซิโดเนีย (Macedonia) ซึ่งเป็นปิตุภูมิของพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) เซอร์เบียและบัลแกเรียได้ตามลำดับรวมทั้งเข้ายึดครองเมืองเอเดรียโนเปิล [Adrianople ปัจจุบันคือเมืองเอดีร์เน (Edirne)] ในแคว้นเทรซ (Thrace) ได้ใน ค.ศ. ๑๓๖๑ ซึ่งมีระยะทางห่างจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล [Constantinople ปัจจุบันคือเมืองอิสตันบูล (Istanbul)] เมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์เพียง ๒๙๐ กิโลเมตรเท่านั้น และจัดตั้งเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของจักรวรรดิออตโตมัน การรุกรานเข้ามาในทวีปยุโรปทำให้จักรวรรดิออตโตมันมีดินแดนประชิดกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ โดยมีดินแดนเหลือเพียงกรุงคอนสแตนติโนเปิลและอาณาบริเวณรอบ ๆ เท่านั้นมีสภาพไม่แตกต่างจากเกาะที่ถูกล้อมรอบโดยจักรวรรดิของพวก มุสลิม

     ในรัชกาลสุลต่านมูราดที่ ๑ (Murad I ค.ศ. ๑๓๖๒-๑๓๘๙) กองทัพของออตโตมันหรือเติร์กได้ทำสงครามกับพวกเซิร์บ (Serb) และพวกคริสเตียนในคาบสมุทรบอลข่านใน ค.ศ. ๑๓๖๔ ค.ศ. ๑๓๗๑ และ ค.ศ. ๑๓๘๖ โดยในครั้งสุดท้าย ฝ่ายออตโตมันสามารถเอาชนะได้อย่างเด็ดขาดในยุทธการแห่งที่ราบคอซอวอ (Battle of Kosovo Plain) เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๓๘๙ นับเป็นการสิ้นสุดอำนาจของพวกเซิร์บในคาบสมุทรบอลข่าน ขณะเดียวกัน การได้ครองคาบสมุทรบอลข่านก็ทำให้พวกออตโตมันมีที่ตั้งที่ เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเข้าโจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลด้วย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๓๙๐ ค.ศ. ๑๓๙๑ และ ค.ศ. ๑๔๒๒ กองทัพออตโตมันได้เข้าปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่ไม่สามารถพิชิตเมืองได้และต้องถอนทัพ ทั้งนี้เพราะกำแพงเมืองอันสูงใหญ่ของกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่มีความสูง ๑๒ เมตร กว้าง ๕ เมตรและมีความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ ๖.๕ กิโลเมตร ยากที่จะทำลายลงได้โดยง่ายอย่างไรก็ดี ในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๔๕๓ สุลต่านเมห์เมดที่ ๒ (Mehmed II ค.ศ.๑๔๕๑-๑๔๘๑) หรือสุลต่านเมห์เมดผู้พิชิต (Mehmed the Conqueror) ในวัย ๒๑ พรรษาก็สามารถทำลายกำแพงเมืองและนำกองทหารออตโตมันเข้ายึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้

หลังจากปิดล้อมเมืองเป็นเวลา ๕๐ วันระหว่างวันที่ ๖ เมษายน -๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๔๕๓ การล่มสลายของกรุงคอนสแตนติโนเปิลซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนปราการที่สกัดกั้นการรุกรานของพวกมุสลิมในคริสตจักรและเป็นเกราะป้องกันให้แก่อารยธรรมตะวันตกนานนับร้อย ๆ ปี จึงนับเป็นเหตุการณ์สำคัญอย่างยิ่งของประวัติศาสตร์ตะวันตก ดังนั้นจึงมีนักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่ยึดการล่มสลายของกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นจุดสิ้นสุดของยุโรปสมัยกลางและจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ (Modern European History) นอกจากนี้ก่อนที่สุลต่านเมห์เมดที่ ๒ ตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลจนแตกได้นั้นก็ได้มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตของจักรวรรดิไบแซนไทน์ทยอยขนงานต้นฉบับตัวเขียน (manuscript) สำคัญ ๆ หลบหนีภัยไปยังอิตาลีและกลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้อิตาลี ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูศิลปวิทยาการในสมัยเรอเนซองซ์ (Renaissance) ขณะเดียวกันอารยธรรมกรีกและโลกของจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่มีจักรพรรดิในราชวงศ์ต่าง ๆ ปกครองติดต่อกันรวม ๘๒ พระองค์ในเวลา ๑,๑๒๓ ปีก็ค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนให้เป็นโลกมุสลิมและอารยธรรมอิสลาม
     ในเวลาไม่ช้าสุลต่านเมห์เมดที่ ๒ ทรงจัดตั้งกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นราชธานีแห่งใหม่และเป็นที่ รู้จักกันในนามของกรุงอิสลามบูล (Islambol; Islambul) (ต่อมาเพี้ยนเสียงเป็น "อิสตันบูล" แต่โดยทั่วไปก็ยังคงนิยมเรียก "คอนสแตนติโนเปิล" ดังเดิม และใน ค.ศ. ๑๙๓๐ รัฐบาลตุรกีได้นำชื่อ "อิสตันบูล" กลับมาใช้อย่างเป็นทางการแทนชื่อ "คอนสแตนติโนเปิล") มีการดัดแปลงวิหารเซนต์โซเฟีย (St. Sophia) ที่ เป็นวิหารสำคัญของนิกายกรีกออร์ทอดอกซ์เป็นสุเหร่า ทั้งสุลต่านเมห์เมดที่ ๒ ยังดำรงพระอิสริยยศ "จักรพรรดิโรมัน" (Kayser-I Rûm) ดังนั้นเพื่อให้การอ้างสิทธิการใช้พระอิสริยยศมีความชอบธรรม สุลต่านเมห์เมดที่ ๒ จึงทรงวางแผนการเข้ายึดกรุงโรม อดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมัน โดยในกลาง ค.ศ. ๑๔๘๐ กองทัพเรือออตโตมันสามารถยึดครองดินแดนบางส่วนของคาบสมุทรอิตาลีระหว่างเมืองโอตรันโต (Otranto) ถึงเมืองอาปูลยา (Apulia) แต่ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๔๘๑ ขณะที่มีการตระเตรียมกองทัพออตโตมันเพื่อทำสงครามยึดครองคาบสมุทรอิตาลี สุลต่านเมห์เมดที่ ๒ ก็สิ้นพระชนม์ แผนการบุกอิตาลีจึงสิ้นสุดลงไปด้วย
     ในรัชกาลสุลต่านเซลิมที่ ๑ (Selim I ค.ศ. ๑๕๑๒-๑๕๒๐) จักรวรรดิออตโตมันได้ขยายอาณาเขต กว้างขวางยิ่งขึ้นทางทิศตะวันออกและทิศใต้ โดยกองทัพออตโตมันสามารถทำสงครามศักดิ์สิทธิ์และเอาชนะกองทัพของชาห์อิสมาอิล (Ismail) แห่งราชวงศ์ซีฟาวิด (Sefavid) แห่งเปอร์เซียซึ่งนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ (Shiah) ที่แตกต่างจากนิกายซุนนี (Sunni) ของพวกออตโตมันในยุทธการที่เมืองชาลดิราน (Battle of Chaldiran) ใน ค.ศ. ๑๕๑๔ และยังขยายอำนาจเข้าไปในแถบวงพระจันทร์เสี้ยวไพบูลย์ (Fertile Crescent) ข้ามทะเลแดง (Red Sea) เข้าไปในอียิปต์พร้อมกับยึดนครศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามคือนครเมกกะ (Mecca) และนครเมดีนา (Medina) ได้ ในช่วงระยะเวลาเดียวกันราชอาณาจักรโปรตุเกสก็ประสบความสำเร็จในการเดินเรือและการขยายอำนาจทางทะเลมายังเอเชียหลังจากวาสโก ดา กามา (Vasco da Gama) เดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปไปขึ้นฝั่งที่เมืองกาลิกัต (Calicut) ในอินเดียได้ใน ค.ศ. ๑๔๙๘ ทั้งยังบรรทุกเครื่องเทศจนเต็มเรือกลับมายังโปรตุเกส ดังนั้นเพื่อกำจัดโปรตุเกสออกจากมหาสมุทรอินเดีย สุลต่านเซลิมที่ ๑ จึงทรงจัดตั้งกองทัพเรือขึ้นในทะเลแดงและในน่านน้ำอียิปต์อย่างไรก็ดี แม้ในเวลาต่อมาพระองค์จะไม่ทรงสามารถสกัดกั้นการขยายอำนาจและอิทธิพลของโปรตุเกสทางทะเลไปยังเอเชียได้ แต่พระองค์ก็ทรงทำให้โปรตุเกสไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่จะผูกขาดการค้าเครื่องเทศ
     จักรวรรดิออตโตมันได้ก้าวขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในรัชกาลสุลต่านสุไลมานที่ ๑ ( ค.ศ. ๑๕๒๐-๑๕๖๖) หรือสุไลมานผู้เกรียงไกร กองทัพออตโตมันสามารถยึดเบลเกรด (Belgrade) ได้ใน ค.ศ. ๑๕๒๑ และรบชนะกองทัพฮังการีในยุทธการที่โมฮัก (Battle of Mohac) เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๕๒๖ แต่ไม่ได้เข้ายึดครองกรุงบูดา (Buda) นครหลวงของฮังการีและตอนกลางของฮังการีจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๕๔๑ ส่วนดินแดนอื่น ๆ ได้แก่ ทรานซิลเวเนีย (Transylvania) วัลเลเคีย (Wallachia) และมอลเดเวีย (Moldavia)

ซึ่งในบางช่วงเวลาก็กลายเป็นรัฐบรรณาการของจักรวรรดิออตโตมันใน ค.ศ. ๑๕๒๙ สุลต่านสุไลมานที่ ๑ ยังยกกองทัพเข้าปิดล้อมกรุงเวียนนาแต่ต้องถอนทัพเมื่อฤดูหนาวมาถึงส่วนในตะวันออกใกล้ กองทัพออตโตมันสามารถยึดเมืองแบกแดด (Baghdad ปัจจุบันคือเมืองหลวงของอิรัก) ใน ค.ศ. ๑๕๓๕ และแผ่อำนาจไปทั่วดินแดนแถบแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรทีส (Tigris-Euphrates) หรือดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) และคุมน่านน้ำในอ่าวเปอร์เซียอีกด้วย
     นอกจากนี้ กองทัพออตโตมันยังสามารถเข้ายึดครองตูนิส (Tunis) และอัลจีเรีย (Algeria) จากสเปนและในช่วงปราบปรามพวกนอกศาสนาในสเปนยังได้ช่วยพาพวกมุสลิมและยิวอพยพออกจากสเปนไปตั้งรกรากใหม่ในดินแดนในปกครอง เช่น ซาลอนิกา (Salonica) เกาะไซปรัส (Cyprus) และกรุงคอนสแตนติโนเปิล รวมทั้งการยึดครองเมืองนีซ (Nice) จากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* ใน ค.ศ. ๑๕๔๓ ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างกองทัพฝรั่งเศสภายใต้การนำของพระเจ้าฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๕๑๕-๑๕๔๗) อังกฤษและเนเธอร์แลนด์ กับกองทัพออตโตมันในการต่อต้านการปกครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ทั้งสายสเปนและสายออสเตรียที่แผ่ขยายในตอนใต้และตอนกลางของทวีปยุโรป การเป็นพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศสกับออตโตมันดังกล่าวนี้ เป็นทั้งการร่วมมือทางด้านทหารและด้านเศรษฐกิจกล่าวคือ สุลต่านทรงประทานสิทธิพิเศษให้แก่ฝรั่งเศสในการทำการค้าปลอดภาษีในจักรวรรดิออตโตมันดังนั้น ในแง่ของบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จักรวรรดิออตโตมันในรัชกาลสุลต่านสุไลมานที่ ๑ จึงเป็นมหาอำนาจหนึ่งที่มีความสำคัญใน "เขตอิทธิพลทางการเมืองของยุโรป" (European political sphere) และเป็นที่ยอมรับของมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ ที่จะต้องผูกไมตรีด้วยเพื่อสร้างดุลแห่งอำนาจในยุโรปขณะเดียวกัน ในรัชกาลสุลต่านสุไลมานที่ ๑ ยังเป็นยุคทองของวรรณกรรม ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมของจักรวรรดิออตโตมัน ทั้งจักรวรรดิก็มีรายได้สูงจากการค้าและการเก็บภาษีขาเข้าและขาออก รวมทั้งภาษีผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ภาษีจากแร่ธาตุต่าง ๆ และค่าปรับที่คิดเป็นเงินทดแทน มีการซ่อมบำรุงเส้นทางการค้าให้อยู่ในสภาพดีและปลอดภัย ทำให้กองคาราวานสามารถเดินทางค้าขายได้สะดวก และมีการสร้างโรงอาบน้ำสาธารณะขึ้นตามเมืองใหญ่ ๆ ทำให้โรงอาบน้ำกลายเป็นศูนย์กลางของการพบปะของผู้คนต่าง ๆ ด้วย
     อย่างไรก็ดี หลังจากสุลต่านสุไลมานที่ ๑ สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๕๖๖ ขณะทำสงครามในฮังการีก็ เป็นการสิ้นสุดของยุครุ่งโรจน์ในการขยายพรมแดนของจักรวรรดิออตโตมันด้วย การก้าวขึ้นมามีอำนาจทางทะเลของชาติตะวันตกและการค้นพบเส้นทางเลือกใหม่ในการเดินทางจากยุโรปไปยังเอเชียและ "โลกใหม่" (New World) รวมทั้งการหลั่งไหลของแร่เงินจำนวนมหาศาลสู่ยุโรปจนเกิดภาวะเงินเฟ้อโดยทั่วไปมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจของจักรวรรดิออตโตมันอ่อนแอลง นอกจากนี้ กองทัพเรือของสันนิบาตอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy League) ที่ประกอบด้วยกองเรือของสเปน เวนิส เจนัวและรัฐสันตะปาปาที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๕๑๑ ยังสามารถเอาชนะกองทัพเรือออตโตมันได้ในยุทธการที่อ่าวลีพานโต [Battle of Lepanto ปัจจุบันคืออ่าวคอรินท์ (Corinth)] ใน ค.ศ. ๑๕๗๑ นับเป็นชัยชนะครั้งแรกของฝ่ายคริสเตียนต่อกองทัพเรือออตโตมันและสามารถยึดเรือของฝ่ายออตโตมันได้เป็นจำนวน ๑๐๐ ลำ พร้อมกับปลดปล่อยทาสชาวคริสต์จำนวนหลายพันคนเป็นอิสระแม้ว่าในเวลาไม่ช้า พวกเติร์กจะสามารถสร้างกองทัพเรือขึ้นมาใหม่ได้ แต่ชัยชนะของชาวคริสต์ในครั้งนี้ก็มีผลทางด้านจิตวิทยาที่ทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของกองกำลังของตนว่าเหนือกว่าพวกเติร์ก รวมทั้งมีอำนาจเข้าควบคุมน่านน้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อย่างไรก็ดี จักรวรรดิออตโตมันก็ยังคงเป็นประเทศที่น่าเกรงขามอยู่สำหรับราชวงศ์ฮับส์บูร์กแห่งออสเตรีย ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* แห่งรัสเซีย และราชวงศ์ซีฟาวิดแห่งเปอร์เซีย
     ในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ จักรวรรดิออตโตมันพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจอีกครั้ง สุลต่านมูราดที่ ๔ (Murad IV ค.ศ. ๑๖๒๓-๑๖๔๐) ทรงประสบความสำเร็จในการสร้างเกียรติภูมิให้แก่จักรวรรดิเมื่อทรงยึดเยเรวาน (Yerevan) คืน ( ค.ศ. ๑๖๓๕) และทรงทำสงครามเอาชนะเปอร์เซียได้ ( ค.ศ. ๑๖๓๘) รวมทั้งยึดครองเกาะครีตจากพ่อค้าเวนิส อีกทั้งสุลต่านมูราดที่ ๔ ก็ทรงเป็นสุลต่านองค์สุดท้ายของจักรวรรดิที่ทรงเข้าร่วมรบและบัญชาการในแนวหน้า หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ จักรวรรดิออตโตมันต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ภายใน รวมทั้งการก่อความวุ่นวายของหัวเมืองและเหล่าทหารที่ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ทำให้ทหารจำนวนมากได้รับเงินตอบแทนต่ำหรือไม่ได้รับเลย และที่สำคัญได้แก่การขาดรัชทายาทที่เจริญพระชันษาพอที่จะรับตำแหน่งประมุขหรือสุลต่าน ซึ่งเปิดโอกาสให้เหล่าพระมารดาของรัชทายาทที่มีสิทธิสืบบัลลังก์เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ "ฮาเร็ม" (Harem) ที่เป็นเขตพระราชฐานชั้นในที่เฉพาะ "ผู้หญิงของสุลต่าน" อันประกอบด้วยพระราชมารดา เหล่ามเหสีเทวีและสตรีที่

ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาของสุลต่าน รวมทั้งพระราชโอรส พระราชธิดา และคนรับใช้อาศัยอยู่กลายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจและการเมืองจนถึง ค.ศ. ๑๖๕๖ เมื่อตูร์ฮาน (Turhan) พระชนนีของสุลต่านเมห์เมดที่ ๔ (Mehmed IV ค.ศ.๑๖๔๘-๑๖๘๗) ทรงยินยอมให้โมฮัมเมด ปาชา (Mohammed Pasha) เข้ารับตำแหน่งแกรนด์วิเซียร์ (Grand Vizier) ซึ่งเทียบเท่ากับอัครเสนาบดี
     ในช่วงที่โมฮัมเมด ปาชามีอำนาจบริหารเป็นเวลา ๕ ปีนั้นเขาสามารถปราบการฉ้อราษฎร์บังหลวง กำจัดเจ้าหน้าที่ที่ไร้ประสิทธิภาพและฟื้นฟูเกียรติภูมิของจักรวรรดิออตโตมัน แต่หลังอสัญกรรมของเขาใน ค.ศ. ๑๖๖๑ ตำแหน่งแกรนด์วิเซียร์ก็ตกเป็นของทายาท ในตระกูลโดยฟาซิล อะห์เมด ปาชา (Fazil Ahmed Pasha) บุตรชายเป็นคนแรกที่ ได้รับตำแหน่งสืบต่อมา ใน เวลาต่อมา ฟาซิลอะห์เมด ปาชาสามารถนำกองทัพ ออตโตมันเข้ายึดครองดินแดนส่วนใหญ่ของยูเครนจาก โปแลนด์และใน ค.ศ. ๑๖๖๙ พวกออตโตมันก็ช่วงชิงเกาะครีตได้ซึ่งนับเป็นการพิชิตดินแดนครั้งสำคัญครั้งสุดท้ายของกองทัพออตโตมันเมื่อฟาซิลอะห์เมด ปาชา ถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. ๑๖๗๒ วีรกรรมของเขาก็สร้าง ความหวาดกลัวไปทั่วยุโรปและเกิดความหวั่นไหวกันว่า ประวัติศาสตร์ของการพิชิตดินแดนของกองทัพเติร์กจะเกิดซ้ำรอยขึ้นอีกครั้งต่อมาใน ค.ศ. ๑๖๘๓ กองทัพ ออตโตมันจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ คนซึ่งมีคารา มุสตาฟา ปาชา (Kara Mustapha Pasha) เป็นผู้นำก็เข้าปิดล้อม กรุงเวียนนา นครหลวงของออสเตรียอีกครั้งหลังจาก ประสบความล้มเหลวในครั้งสุดท้ายเมื่อ ค.ศ. ๑๕๒๙ แต่ จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ ๑ (Leopold I ค.ศ. ๑๖๕๘-๑๗๐๕) และกองทัพพันธมิตรก็สามารถปกป้องกรุงเวียนนาไว้ได้ นับเป็นจุดจบในความพยายามของจักรวรรดิออตโตมันที่จะขยายอำนาจและรุกล้ำพรมแดนเข้าไปยังใจกลางของทวีปยุโรปด้วย ขณะที่กองทัพออตโตมันล่าถอยนั้นสุลต่านเมห์เมดที่ ๔ ก็ทรงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตคารา มุสตาฟา ปาชา
     ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๖๘๖ ประมุขของออสเตรียยังสามารถขับไล่พวกเติร์กที่ยึดครองกรุงบูดานครหลวง ของฮังการีเป็นเวลา ๑๕๐ ปีได้สำเร็จด้วย ใน ค.ศ. ๑๖๙๗ เจ้าชายยูจีนแห่งซาวอย (Eugene of Savoy) ก็ทรงสามารถทำลายกองทัพออตโตมันได้ที่ เมืองเซนตา (Senta) ทางตอนเหนือของเซอร์เบียพวกเติร์กถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาคาร์โลวิทซ์ (Treaty ofKarlowitz) ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๖๙๙ โดยยินยอม ถอนตัวออกจากการยึดครองฮังการียกเว้นในบริเวณ แม่น้ำบานาต (Banat) และบริเวณระหว่างแม่น้ำมารอส (Maros) ทิสซอ (Tisza) กับดานูบ (Danube)ที่ยึดครองมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ซึ่งต่อมาก็สูญเสียไปในที่สุด นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการล่าถอยของพวกเติร์กจากคาบสมุทรบอลข่านด้วย
     ในระหว่างสงครามเหนือครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Northern War) ระหว่างรัสเซียกับสวีเดนในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ พระเจ้าชาลส์ที่ ๑๒ (Charles XII ค.ศ. ๑๖๙๗-๑๗๒๑) ขณะทรงเพลี่ยงพล้ำแก่กองทัพรัสเซียของซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ มหาราช (Peter I the Great ค.ศ. ๑๖๘๒-๑๗๒๕) และพาทัพถอยร่นเข้าไปยังจักรวรรดิออตโตมันนั้น พระองค์สามารถโน้มน้าวให้สุลต่านอะห์เมดที่ ๓ (Ahmed III ค.ศ. ๑๗๐๓-๑๗๓๐) ประกาศสงครามกับรัสเซียเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๑๑ กองทัพรัสเซียได้ถูกกองทัพออตโตมันที่มีจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัวล้อมกรอบ ณ บริเวณแม่น้ำพรุท(Prut) อีก ๒ วันต่อมาก็ตกเป็นฝ่ายปราชัยอย่างยับเยินซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ จึงต้องยอมทำสนธิสัญญาสงบศึกกับออตโตมันโดยออตโตมันได้เมืองอาซอฟ (Azov) ที่รัสเซียยึดไปใน ค.ศ. ๑๖๙๖ กลับคืน [ต่อมาใน ค.ศ. ๑๗๓๙ ก็ต้องเสียให้แก่รัสเซียอีกตามสนธิสัญญาเบลเกรด (Treaty of Belgrade)] รวมทั้งเมืองตากันร็อก (Taganrog) และป้อมปราการต่าง ๆ บนฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ (Dnieper) ซึ่งเท่ากับรัสเซียต้องสูญเสีย "หน้าต่างสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน" และทำให้ความฝันของซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ สลายลงด้วย ขณะเดียวกันการเผด็จศึกกับรัสเซียดังกล่าวก็ทำให้จักรวรรดิออตโตมันสงบสุขไปชั่วขณะและเรียกช่วงสงบสุขในรัชกาลสุลต่านอะห์เมดที่ ๓ นี้ว่า "สมัยดอกทิวลิป" (Tulip Era - Lâle Devri) ตามชนิดดอกไม้ที่สุลต่านโปรดปราน มีการปฏิรูปต่าง ๆ เช่นการลดภาษี การพยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของ จักรวรรดิออตโตมันในสายตาของโลกตะวันตก การส่งเสริมการลงทุนของเอกชนและวิสาหกิจต่าง ๆ รวมทั้งการซ่อมแซมเมืองป้อมค่ายในคาบสมุทรบอลข่านเพื่อเป็นปราการสกัดกั้นการรุกรานของชาติตะวันตกด้วย
     อย่างไรก็ดี สงครามระหว่างจักรวรรดิรัสเซียกับออตโตมันก็เกิดขึ้นอีกใน ค.ศ. ๑๗๓๖ เมื่อรัสเซียพยายามจะแผ่อำนาจเข้าไปควบคุมทะเลดำโดยมีออสเตรียให้การสนับสนุน เมื่อกองทัพเติร์กสามารถยึดเมืองเบลเกรดกลับคืนมาได้และข่มขู่ที่จะเคลื่อนทัพเข้าโจมตีกรุงเวียนนาใน ค.ศ. ๑๗๓๙ ซึ่งมีผลให้ออสเตรียต้องถอนตัวออกจากสงคราม รัสเซียจึงต้องยุติสงครามด้วยการทำสนธิสัญญาเบลเกรดในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๗๓๙ รัสเซียต้องสูญเสียดินแดนเกือบทั้งหมดที่ยึดครองได้ดังนั้น จักรวรรดิออตโตมันก็ยังคงมีอำนาจในการควบคุมน่านน้ำทะเลดำต่อไปอีกหลายปีจนถึง ค.ศ. ๑๗๖๘ เมื่อต้องทำสงครามกับรัสเซียอีกในรัชสมัยของซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช (Catherine II the Great ค.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๙๖) โดยในครั้งหลังสุดนี้ กองทัพเติร์กเป็นฝ่ายพ่ายแพ้รัสเซียอย่างยับเยินและต้องทำสนธิสัญญากูชุกไกนาร์จี (Kuchuk Kainarji) ใน ค.ศ. ๑๗๗๔ รัฐบาลออตโตมันต้องยินยอมให้รัสเซียได้อำนาจการปกครองเมืองอาซอฟทั้งหมด ตลอดจนชายฝั่งทะเดำจนถึงแม่น้ำบัก (Bug) และเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) ซึ่งทำให้ออตโตมันสูญเสียอำนาจในการควบคุมทะเลดำมีมาเป็นเวลาช้านาน รวมทั้งต้องให้สิทธิแก่รัสเซียในการเดินเรือผ่านช่องแคบต่าง ๆ ไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วย ซึ่งเท่ากับรัสเซียได้เปิด "หน้าต่างสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน" ได้สำเร็จอีกทั้งต้องสละอำนาจปกครองแหลมไครเมียและให้รัสเซียได้สิทธิเข้าไปคุ้มครองคริสต์ศาสนิกชนกรีกออร์ทอดอกซ์ในแคว้นวัลเลเคียและมอลเดเวียซึ่งต่อมารัสเซียได้อ้างสิทธินี้กับคริสต์ศาสนิกชนอื่น ๆ ที่อาศัยในจักรวรรดิออตโตมันอีกด้วย สิทธิดังกล่าวนี้มีผลให้รัสเซียสามารถเข้าไปแทรกแซงในกิจการต่าง ๆ ภายในจักรวรรดิออตโตมันได้โดยง่าย นับเป็นการทำลายศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของจักรวรรดิออตโตมันเป็นอันมาก นอกจากนี้ ยังทำให้ชนเผ่าสลาฟในคาบสมุทรบอลข่านหวังพึ่งรัสเซียในการปลดแอกตนจากอำนาจปกครองของพวกเติร์กอีกด้วย เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจยุโรปกับจักรวรรดิออตโตมันและระหว่างกันเองด้วยในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
     ในสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars)* ฝรั่งเศสมีนโยบายเข้ารุกรานอียิปต์ที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน โดยส่งนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ต่อมาได้สถาปนาเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* บุกอียิปต์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ ดังนั้น ออตโตมันจึงต้องเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ ออสเตรีย รัสเซีย เนเปิลส์ และซาร์ดิเนียในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๒ (Second Coalition) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๙๘ ด้วย นอกจากนี้ การบุกอียิปต์ก็ยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงอันตรายของการคงอยู่ของจักรวรรดิออตโตมันที่กำลังอ่อนแอลงเป็นลำดับ และทำให้สุลต่านเซลิมที่ ๓ (Selim III ค.ศ. ๑๗๘๙-๑๘๐๗) ที่ทรงเริ่มนโยบายปฏิรูปกองทัพตุรกีให้ทันสมัยต้องเร่งดำเนินงานให้รุดหน้า ทรงส่งเสริมการจัดตั้งโรงเรียนทหารตามแนวตะวันตก และปรับปรุงกองกำลังเพื่อแทนที่พวกจานิสซารีซึ่งในขณะนั้นได้คลายความจงรักภักดีแบบถวายชีวิตแก่สุลต่านเป็นอันมากเพราะนับแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมามีการยินยอมให้พวกจานิสซารีแต่งงานได้และให้สิทธิบุตรชายเข้าเป็นจานิสซารี พวกจานิสซารีกลายเป็นอิสรชนและกองทัพก็เปิดโอกาสให้พวกมุสลิมที่เป็นไททุกคนสามารถสมัครเป็นจานิสซารี พวกจานิสซารีรุ่นหลัง ๆ จึงมักผูกพันต่อครอบครัวมากกว่าจงรักภักดีสุลต่าน อีกทั้งบางส่วนยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้าและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งยังมีความอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน รวมทั้งต่อต้านการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ความพยายามของสุลต่านซาลิมที่ ๓ ในการปฏิรูปกองทัพจึงล้มเหลวและนำไปสู่การก่อกบฏของพวกจานิสซารีและการสิ้นพระชนม์ของสุลต่าน ในที่สุดสุลต่านมะห์มุดที่ ๒ (Mahmud II ค.ศ. ๑๘๐๘-๑๘๓๙) ซึ่งทรงสามารถปราบปรามจานิสซารีได้จึงประกาศยุบกองทัพจานิสซารีใน ค.ศ. ๑๘๒๖ และให้ประหารชีวิตพวกจานิสซารีเป็นจำนวนมาก หลังจากเหตุการณ์นี้ตุรกีก็หันมาใช้ระบบทหารแบบตะวันตก นับเป็น "การปิดฉาก" โลกเก่าของจักรวรรดิออตโตมันในด้านการทหารด้วย
     ขณะเดียวกันในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แนวความคิดเสรีนิยมและชาตินิยมที่เป็นผลจากการการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* และการขยายอำนาจของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ในยุโรปได้ปลุกจิตสำนึกของความรักชาติและการตื่นตัวทางการเมืองของชนชาติส่วนน้อยต่าง ๆในจักรวรรดิออตโตมันจนนำไปสู่วิกฤตการณ์การเมืองในทศวรรษ ๑๘๒๐ ชาวกรีกซึ่งพยายามรณรงค์เรียกร้องเอกราชจากจักรวรรดิออตโตมันตั้งแต่ต้น ค.ศ. ๑๘๑๐ ได้ประกาศตนเป็นเอกราชจากอำนาจปกครองของจักรวรรดิ นำไปสู่สงครามอิสรภาพกรีก (Greek War of Independence ค.ศ. ๑๘๒๑-๑๘๒๙)* ซึ่งทำให้ "ปัญหาตะวันออก" กลายเป็นปัญหาสำคัญของยุโรป กองทัพออตโตมันได้บุกปราบปรามชาวกรีกอย่างทารุณโหดร้าย ทั้งขอความร่วมมือจากมุฮัมมัด อาลี (Muhammad Ali)* เจ้าผู้ครองอียิปต์ให้ส่งกองทัพมาช่วยปราบปรามกบฏชาวกรีกและเข้ายึดกรุงเอเธนส์นครหลวงของกรีซได้ใน ค.ศ. ๑๘๒๖ ในปีต่อมา อังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซียก็ร่วมลงนามกันในสนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London) เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกรีซเป็นรัฐบรรณาการของจักรวรรดิออตโตมันและวางมาตรการบีบบังคับให้รัฐบาลออตโตมันปฏิบัติตาม ทั้งให้อียิปต์ถอนกำลังออกจากดินแดนกรีซ แต่ประสบความล้มเหลวเพราะออตโตมันปฏิเสธที่จะยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว มหาอำนาจทั้งสามจึงส่งกองทัพเรือเข้าปิดล้อมคาบสมุทรเพโลพอนนีซัส (Peloponnesus) และก่อให้เกิดยุทธนาวีที่นาวารีโน (Battle of Navarino) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๒๗ ตุรกีและอียิปต์เป็นฝ่ายปราชัย
     ในขณะที่สงครามอิสรภาพกรีกยังดำเนินอยู่รัสเซียก็ขัดแย้งกับออตโตมันในปัญหาเซอร์เบียเนื่อง จากรัฐบาลออตโตมันละเมิดความตกลงในสนธิสัญญาบูคาเรสต์ (Treaty of Bucharest)* ค.ศ. ๑๘๑๒ ด้วยการก้าวก่ายอำนาจการปกครองตนเองของเซอร์เบียโดยส่งเจ้าหน้าที่มุสลิมเข้ามาบริหารเซอร์เบีย รัสเซียจึงประกาศสงครามกับออตโตมันเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ค.ศ. ๑๘๒๘ โดยฝรั่งเศสให้การสนับสนุน สงครามรัสเซีย-ตุรกี (Russo-Turkish War)* สิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๘๒๙ ด้วยสนธิสัญญาสงบศึกเอเดรียโนเปิล (Treaty of Adrianople) เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ค.ศ. ๑๘๒๙ โดย รัสเซียได้รับสิทธิในการควบคุมแม่น้ำดานูบ ราชรัฐดานูบ (Danubian Principalities) ที่ประกอบด้วย มอลเดเวียและวัลเลเคีย ตลอดจนการพิทักษ์เซอร์เบียทั้งได้รับดินแดนชายฝั่งทะเลดำและค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล ส่วนออตโตมันยังคงดำรงสถานภาพจักรวรรดิอิสระที่รัสเซียทำหน้าที่ เป็นผู้พิทักษ์เพื่อป้องกันไม่ให้มหาอำนาจอื่น ๆ เข้าแทรกแซง ความพ่ายแพ้ของรัฐบาลออตโตมันยังทำให้ปัญหากรีซคลี่คลายลงด้วยเพราะรัฐบาลออตโตมันยอมรับพิธีสารลอนดอน (London Protocol) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๓๐ ของ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียในการค้ำประกันและจัดตั้งกรีซเป็นประเทศเอกราช
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ เกิดสงครามตุรกี-อียิปต์ (Turkish-Egyptian War) สืบเนื่องจากการที่ตุรกีเคยสัญญาจะยกซีเรียให้แก่อียิปต์เพื่อตอบแทนที่อียิปต์ได้ส่งกองทัพมาช่วยสกัดการโจมตีของมหาอำนาจยุโรปในสงครามกู้อิสรภาพกรีก แต่ตุรกีปฏิเสธที่จะยกซีเรียให้และนำไปสู่การเกิดสงคราม กองทัพอียิปต์มีชัยชนะอย่างต่อเนื่องและเคลื่อนกำลังใกล้ถึงกรุงคอนสแตนติโนเปิลตุรกีจึงขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๓

รัสเซียก็ส่งกองทัพเข้าช่วยตุรกี อังกฤษและ ฝรั่งเศสซึ่งหวาดวิตกต่อการขยายอิทธิพลของรัสเซียใน คาบสมุทรบอลข่านจึงร่วมกันกดดันและบีบบังคับให้ตุรกียอมยกดินแดนบางส่วนของซีเรียให้แก่อียิปต์ซึ่งทำให้สงครามสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ความเป็นพันธมิตรระหว่างตุรกีกับรัสเซียในสงครามครั้งนี้ทำให้ตุรกีต้องทำสนธิสัญญาอันเกียร์สเกเลสซี (Treaty of Unkiar Skelessi) กับรัสเซียเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๓ สนธิสัญญาฉบับนี้มีอายุ ๘ ปีและมีสาระสำคัญคือ ตุรกียืนยันการยอมรับบทบาทผู้พิทักษ์เซอร์เบียของรัสเซียตามสนธิสัญญาเอเดรียโนเปิล ทั้งจะสนับสนุนช่วยเหลือกันและกันในกรณีที่ประเทศคู่สัญญาถูกโจมตีตุรกียังยอมทำความตกลงลับจะปิดช่องแคบดาร์ดะเนลส์ ในกรณีที่ รัสเซียถูกโจมตีเพื่อไม่ให้เรือรบของชาติอื่นผ่านยกเว้นเรือรบของรัสเซียเท่านั้น นอกจากนี้ ซาร์นิโคลัสที่ ๑ (Nicholas I ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๕๕)* ยังทำความตกลงลับกับจักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๓๕)* แห่งออสเตรียที่จะผดุงรักษาสถานะเดิมของจักรวรรดิออตโตมันไว้ และสกัดกั้นไม่ให้อียิปต์ขยายอำนาจเข้ายึดครองดินแดนออตโตมันในยุโรป ตลอดจนรักษาสถานะเดิมของดินแดนต่าง ๆ ในยุโรปกลางด้วย
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๙ ตุรกีซึ่งปรับปรุงกองทัพจนเข้มแข็งตามแบบตะวันตกได้ยกทัพบุกโจมตีอียิปต์เพื่อแก้แค้นและแย่งชิงซีเรียกลับคืน แม้ตุรกีจะมีชัยชนะในระยะแรกแต่สถานการณ์ก็พลิกผันเมื่อสุลต่านมะห์มูดที่ ๒ สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันและอับดุล เมจิด (Abdul Mejid) พระราชโอรสวัย ๑๖ ชันษาขึ้นครองบัลลังก์ใน พระนามอับดุล เมจิดที่ ๑ (Addul Mejid I ค.ศ. ๑๘๓๙-๑๘๖๑) ยุวสุลต่านไม่เข้มแข็งพอที่จะนำทัพและต้องพ่ายแพ้ต่ออียิปต์ อียิปต์ซึ่งฝรั่งเศสให้การสนับสนุนจึงเรียกร้องสิทธิการปกครองซีเรีย แต่อังกฤษต่อต้านและชักชวนมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งรัสเซียทำสงครามกับอียิปต์ ฝรั่งเศสจึงถอนตัวจากการสนับสนุนอียิปต์และทำให้กองทหารฝ่ายพันธมิตรยึดเมืองเบรุต (Beriut) และเมืองอาเครอ (Acre) ได้ ในต้น ค.ศ. ๑๘๔๑ อังกฤษ ออสเตรีย ปรัสเซีย และรัสเซียจัดการประชุมขึ้นที่ กรุงลอนดอนและเห็นชอบที่จะใช้กำลังบังคับอียิปต์ให้ถอนกำลังการยึดครองซีเรียแต่ให้อียิปต์คงอำนาจปกครองตนเองต่อไป อียิปต์จึงต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาลอนดอน ค.ศ. ๑๘๔๑ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่มหาอำนาจกำหนด
     ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๑ มหาอำนาจยุโรปซึ่งประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรีย ปรัสเซีย และรัสเซียจัดการประชุมว่าด้วยปัญหาช่องแคบ (The Straits Convention) และเห็นชอบให้ตุรกีปิดช่องแคบดาร์ดะเนลส์และช่องแคบบอสพอรัสโดยไม่อนุญาตให้เรือรบของชาติใดยกเว้นเรือสินค้าและอื่น ๆ แล่นผ่านในภาวะปรกติ ความตกลงดังกล่าวจึงเป็นการยกเลิกสิทธิของรัสเซียตามสนธิสัญญาอันเกียร์สเกเลซี ค.ศ. ๑๘๓๓ และทำให้จักรวรรดิออตโตมันปลอดพ้นจากการแทรกแซงของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม รัสเซียซึ่งต้องการขยายอำนาจเหนือช่องแคบดาร์ดะเนลส์และบอสพอรัสที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญก็ไม่ได้เลิกล้มนโยบายการแผ่อำนาจเข้าไปในจักรวรรดิออตโตมัน ใน ค.ศ. ๑๘๔๔ ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ทรงพยายามโน้มน้าวอังกฤษให้เจรจาตกลงเรื่องการแบ่งดินแดนจักรวรรดิออตโตมัน แต่อังกฤษไม่เห็นด้วย รัสเซียจึงต้องระงับเรื่องการแทรกแซงไว้
     ความพ่ายแพ้ต่ออียิปต์และการแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจยุโรปในจักรวรรดิออตโตมันทำให้สุลต่านอับดุล เมจิดที่ ๑ เห็นความจำเป็นที่จะปฏิรูปการปกครองและปรับปรุงกองทัพให้เข้มแข็งมากขึ้น สมัยการปกครองของพระองค์และสืบต่อไปจนถึงรัชกาลสุลต่านอับดุล อะซีซ (Abdul Aziz ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๗๖) พระราชโอรส ได้ชื่อว่าเป็นสมัยแห่งการปฏิรูปที่มีชื่อเรียกว่า "ทาซีมัต" (Tazimat) หรือ "การจัดระบบใหม่" (Reorganization) บุคคลสำคัญที่พยายามผลักดันการปฏิรูปและพัฒนาประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมประเทศตะวันตกคือ เมห์เมด อาลี ปาชา (Mehmed Ali Pasha) และเมห์เมด ฟูอัต ปาชา (Mehmed Fuad Pasha) คนทั้งสองเคยเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเอกอัครราชทูตประจำยุโรป ตลอดจนดำรงตำแหน่งแกรนด์วิเซียร์หรืออัครมหาเสนาบดี ประสบการณ์และความรอบรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมยุโรปของทั้งคู่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางด้านต่าง ๆ ในเวลาต่อมา ที่สำคัญได้แก่ ในด้านการศึกษามีการดำเนินการให้รัฐเข้าควบคุมและรับผิดชอบด้านการศึกษาแทนองค์การหรือชุมชนศาสนาที่เรียกว่า "มิลเลต" (millet) การขยายการศึกษาภาคบังคับซึ่งเป็นการศึกษาแบบให้เปล่าไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาการจัดตั้งโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่ออบรมและสร้างคนรุ่นใหม่ เช่นสถาบันด้านการทูตและการบริหารสำนักงานแปลโรงเรียนข้าราชการ และมีการส่งนักเรียนไปศึกษาที่ยุโรป นอกจากนี้ มีการพยายามปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยโดยร้อยเอก เฮลมุท คาร์ล แบร์นฮาร์ด ฟอนมอลท์เคอ (Helmuth Karl Bernhard von Moltke)* แห่งกองทัพปรัสเซียเป็นที่ปรึกษาทางทหาร มีการสร้างป้อมค่าย ตลอดจนการจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์ทางทหารขึ้นด้วย ทั้งมีการกู้ยืมเงินจากอังกฤษและฝรั่งเศสมาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ขณะเดียวกันก็มีการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเพื่อทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม
     นอกจากนี้ สุลตานอับดุล เมจิดที่ ๑ ยังโปรดให้มีการเปลี่ยนแบบแผนของราชสำนักให้เป็นแบบ ตะวันตกด้วย โดยให้สร้างพระราชวังโดลมาบาห์เช (Dolmabahce) ในรูปแบบศิลปกรรมตะวันตกแบบเรอเนซองซ์ และบาโรก (Baroque) ขึ้นเป็นที่ประทับแทนพระราชวังทอปกาปึ (Topkapi) ที่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันออกและใช้เป็นที่ประทับของสุลต่านและนางในฮาเร็มติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ใช้เวลาก่อสร้างระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๓-๑๘๕๖ จนแล้วเสร็จ มีการใช้ทองคำกว่า ๑๕ ตันที่จะเนรมิตให้ภายในอาคารของพระราชวังแห่งใหม่นี้งามระยับตาและเหลืองอร่ามด้วยสีทอง โดยตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงด้วยลวดลายทองเครื่องเรือนและเครื่องใช้ตามแบบราชสำนักตะวันตกโดยเฉพาะตามแบบพระราชนิยมในฝรั่งเศสระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ รวมทั้งภาพเขียนและของมีค่าจากต่างประเทศจำนวนมาก ห้องที่จัดเป็นพิเศษและสวยงามที่สุด ได้แก่ ห้องรับรองคณะทูตานุทูตบนชั้นสองของพระราชวัง เป็นที่เข้าใจกันว่าการสร้างพระราชวังโดลมาบาห์เชนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศก็เพื่อให้ผู้แทนของกลุ่มมหาอำนาจตะวันตกที่เดินทางมาเฝ้าสุลต่านเกิดความประทับใจและยอมรับนับถือว่าจักรวรรดิออตโตมันซึ่งเริ่มกลายเป็น "คนป่วยแห่งยุโรป" ยังคงมั่นคงในด้านการเงินและยังมีฐานะทัดเทียมเป็นภาคีมหาอำนาจ ส่วนสุลต่านเองเมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระราชวังโดลมาบาห์เชเป็นการถาวรแล้วก็โปรดให้ใช้ธรรมเนียมตะวันตกมากขึ้น เช่น การนั่งโต๊ะเสวยพระกระยาหารแทนการประทับนั่งกับพื้น
     อย่างไรก็ดี แม้โดยทั่วไปสุลต่านอับดุล เมจิดที่ ๑ จะทรงพยายามผลักดันการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยแต่การที่ขึ้นครองบัลลังก์ในวัยเยาว์และมิได้รับการศึกษาอย่างเป็นแบบแผน ทั้งเคยชินกับการแวดล้อมด้วยขันทีและสตรีในราชสำนักและรับทราบปัญหาการเมืองและสังคมจากวงในของราชสำนักเท่านั้น พระองค์จึงขาดวิจารณญาณลึกซึ้งในการเข้าใจและการแก้ไขปัญหาของจักรวรรดิ พระราโชบายปฏิรูปจึงเปลี่ยนไปมาและขึ้นอยู่กับอัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีที่ใกล้ชิดซึ่งก็มักเปลี่ยนตัวอยู่เสมอ ๆ นอกจากนี้ กลุ่มขุนนางหัวอนุรักษ์ซึ่งสูญเสียประโยชน์ยังพยายามขัดขวางและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ การปฏิรูปต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างล่าช้าและประสบผลสำเร็จไม่มากเท่าที่ควร ยิ่งเมื่อจักรวรรดิออตโตมันเข้าสู่สงครามใหญ่อีกครั้งคือสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)* การปฏิรูปต่าง ๆ ก็ชะงักลงไปชั่วขณะหนึ่ง
     สงครามไครเมียมีสาเหตุจากการที่รัสเซียบีบบังคับให้ตุรกียกเลิกสนธิสัญญาค.ศ. ๑๘๕๒ ที่ให้สิทธิ พิเศษแก่ฝรั่งเศสในการคุ้มครองคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกในดินแดนศักดิ์สิทธิที่อยู่ใต้การปกครองของตุรกี โดยอ้างว่าเป็นการซ้ำซ้อนกับสนธิสัญญากูชุกไกนาร์จี ค.ศ. ๑๗๗๔ ที่รัสเซียเคยได้รับในรัชสมัยของซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช ซาร์นิโคลัสที่ ๑ ซึ่งตรัสอย่างเปิดเผยใน ค.ศ. ๑๘๕๓ ว่า ออตโตมันเป็นเสมือนคนป่วยแห่งยุโรปที่อาการหนักและกำลังจะตายและต้องรีบดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนที่จะเสียโอกาส จึงหาเหตุก่อสงครามขึ้น อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งไม่ต้องการให้รัสเซียขยายอำนาจในคาบสมุทรบอลข่านและประสงค์จะรักษาสถานเดิมของตุรกีไว้จึงสนับสนุนตุรกี ขณะ เดียวกัน เคานต์คามิลโล ดิ คาวัวร์ (Camillo di Cavour)* อัครเสนาบดีแห่งราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Kingdom of Piedmont-Sardinia) ทางตอนเหนือของอิตาลีซึ่งหวังจะได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษและฝรั่งเศสในการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy)* ก็ส่งทหารเข้าร่วมรบต่อต้านรัสเซียด้วย สงครามไครเมียสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๕๖ โดยรัสเซียสูญเสียอิทธิพลในคาบสมุทรบอลข่านทั้งต้องถอนตัวออกจากวงการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปไประยะเวลาหนึ่ง ตุรกีถูกบังคับให้ปฏิรูปการปกครอง มหาอำนาจยุโรปให้การค้ำประกันว่าจะไม่เข้าแทรกแซงใน กิจการภายในของตุรกีและจะร่วมปกป้องเอกราชและบูรณภาพของตุรกีให้เป็นปึกแผ่น
     ผลสำคัญประการหนึ่งของสงครามไครเมียคือดินแดนหลายแห่งใต้การปกครองของตุรกีได้สิทธิ ปกครองตนเองมากขึ้น เช่น มอลเดเวีย วัลเลเคีย เซอร์เบีย และเบสซาราเบีย (Bessarabia)* สุลต่านอับดุล เมจิดที่ ๑ ยังต้องทรงยอมให้สิทธิแก่คริสต์ศาสนิกชนเท่าเทียมกับชาวมุสลิมในทางกฎหมายและสังคม ยกเลิกการเก็บภาษีรายหัวพลเมืองที่ไม่ใช่มุสลิมสงครามทำให้ตุรกีเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและมีหนี้สินกับมหาอำนาจตะวันตกจำนวนมหาศาล ซึ่งในเวลาต่อมาเปิดโอกาสให้มหาอำนาจตะวันตกเข้าแทรกแซงกิจการภายในเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน กลุ่มปัญญาชนเสรีนิยมซึ่งส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาจากประเทศตะวันตกและเป็นข้าราชการที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลและความฟุ่มเฟือยของราชสำนัก จึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ให้มากขึ้นและสัมฤทธิผลในเวลาอันรวดเร็วรวมทั้งต่อต้านนโยบายปฏิรูปของเมห์เมด อาลี ปาชา และเมห์เมด ฟูอัต ปาชาที่นิยมตะวันตกมากเกินไปปัญญาชนกลุ่มนี้ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "ออตโตมันหนุ่ม" (Young Ottomans) เห็นว่าการปฏิรูปเป็นการลอกเลียนแบบอย่างตะวันตกมากกว่าจะสร้างสังคมออตโตมันใหม่พวกเขาจึงเรียกร้องการเปลี่ยนระบอบปกครองเป็นแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การมีรัฐธรรมนูญและ มีรัฐสภาเป็นสถาบันตัวแทนของประชาชนตลอดจนการรักษาสงวนไว้ซึ่งวัฒนธรรมและคุณค่าของอิสลาม
     สุลต่านอับดุล อะซีซทรงพยายามดำเนินการปฏิรูปตามแนวทางของกลุ่มออตโตมันหนุ่มแต่ก็ประสบ ความสำเร็จไม่มากนัก การปฏิรูปที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์คือ การปฏิรูประบบธนาคารและสนับสนุนส่งเสริมการค้าและอุตสาหกรรมให้พัฒนาขยายตัว รวมทั้งให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินได้ด้วย มีการยกเลิกระบบกิลด์ (guild) และจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมให้มากขึ้นและเพิ่มภาษีใหม่ ๆ เช่น ภาษีใบยาสูบ ภาษีน้ำผลไม้ ภาษีใบยาสูบที่นำเข้า ภาษีศุลกากรและอื่น ๆ เพื่อหารายได้ มีการแก้ไขกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายและกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายพาณิชย์และกฎหมายพาณิชย์นาวีให้ทันสมัยเพื่อเป็นที่ยอมรับของประเทศตะวันตก ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๖ มีการปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งตามแบบฝรั่งเศสและจัดตั้งศาลแห่งรัฐที่ไม่อยู่ใต้การควบคุมขององค์การศาสนาระบบศาลยุติธรรมจึงเริ่มเปลี่ยนเป็นแบบฝรั่งเศสและยังคงมีกฎหมายครอบครัวและมรดกเท่านั้นที่ยังคงอยู่ใต้กฎหมายอิสลาม กฎหมายฉบับสำคัญ ได้แก่กฎหมายหลักพื้นฐาน (Basic Law) ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๗๖ ซึ่งให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเสมอภาคทางกฎหมายแก่ประชาชนทุกชนชาติภายในจักรวรรดิ แม้กฎหมายฉบับต่าง ๆ จะไม่บรรลุผลในทางปฏิบัติมากนักในช่วงแรก ๆ แต่ก็วางรากฐานอันแข็งแกร่งทางสังคมในการสร้างประเทศให้เป็นรัฐสมัยใหม่ขึ้นในเวลาต่อมา
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๓-๑๘๗๔ เกิดภาวะแห้งแล้งอุทกภัย และความอดอยากตามพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของจักรวรรดิออตโตมัน รัฐบาลซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มภาระซ้ำเติมแก่ประชาชนด้วยการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเพื่อนำไปชำระหนี้ต่างประเทศ รวมทั้งเกณฑ์พลเมืองเป็นทหารมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปกำลังทัพที่เริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๙ ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วยุโรปใน ค.ศ. ๑๘๗๓ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในตุรกีเลวร้ายมากขึ้น ขบวนการรวมกลุ่มสลาฟ (Pan Slavism) นอกประเทศและพวกสลาฟชาตินิยมในเซอร์เบียจึงเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ชาวสลาฟคริสเตียนก่อกบฏต่อพวกมุสลิมในบอสเนีย (Bosnia) และเฮอร์เซโกวีนา (Herzegovina) เพื่อแยกตัวออกจากจักรวรรดิ เมื่อการก่อกบฏเกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๗๕ ชาวสลาฟในภาคตะวันออกและภาคใต้ของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ก็ได้เคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือฝ่ายกบฏ ขณะเดียวกันซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II ค.ศ. ๑๘๕๕-๑๘๖๑)* แห่งรัสเซียซึ่งต้องการคานอำนาจของออสเตรีย-ฮังการีและกลับมามีบทบาทในการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้งหลังจากรัสเซียเสียเกียรติภูมิในสงครามไครเมียก็แสดงท่าทีจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวของพวกสลาฟ
     ต่อมา ในกลาง ค.ศ. ๑๘๗๖ บัลแกเรียซึ่งหวังความช่วยเหลือจากรัสเซียจึงก่อกบฏต่อจักรวรรดิออตโตมันด้วย ชาวคริสต์ในบัลแกเรียได้สังหารหมู่ชาวมุสลิมจำนวนมาก กองทัพสุลต่านจึงบุกปราบปราม และเข่นฆ่าพวกกบฏอย่างทารุณโหดร้าย หมู่บ้านและศาสนสถานของชาวคริสต์ถูกเผาและทำลายอย่างย่อยยับพลเมืองชายหญิงและเด็กถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ประมาณ ๑๒,๐๐๐-๑๕,๐๐๐ คน การทารุณกรรมดังกล่าวทำให้เซอร์เบียและมอนเตเนโกร (Montenegro) ก่อสงครามกับออตโตมันและรัสเซียก็ตัดสินใจเข้าแทรกแซง นอกจากนี้ ข่าวเหตุการณ์ความทารุณที่เกิดขึ้นยังทำให้วิลเลียม อีวาร์ต แกลดสโตน (William Ewart Gladstone)* นักการเมืองคนสำคัญของพรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ในอังกฤษเขียนจุลสารเรื่อง "Bulgarian Horrors and the Question of the East" เผยแพร่ ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๗๖ เรียกร้องให้พวกเติร์กถอนกำลังออกจากบัลแกเรียและเร่งเร้าให้รัสเซียบุกโจมตีโดยไม่ต้องใส่ใจต่อรัฐบาลอังกฤษที่ดำเนินนโยบายต่อต้านรัสเซียและสนับสนุนออตโตมันทั้งยังเพิกเฉยต่อข่าวทารุณกรรมที่เกิดขึ้นในแถบบอลข่าน อย่างไรก็ตาม ชาวอังกฤษโดยทั่วไปรวมทั้งผู้นำพรรคเสรีนิยมตลอดจนสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑)* ก็ไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นและข้อเรียกร้องของแกลดสโตน
     ในช่วงเวลาที่ดินแดนต่าง ๆ ในจักรวรรดิออตโตมันก่อกบฏขึ้น กลุ่มออตโตมันหนุ่มก็ร่วมมือกับกองทัพก่อรัฐประหารและบังคับให้สุลต่านอับดุล อะซีซสละราชย์เนื่องจากทรงล้มเหลวในการบริหารปกครองและทูลเชิญมูราด (Murad) พระอนุชาขึ้นครองบัลลังก์เฉลิมพระนามสุลต่านมูราดที่ ๕ (Murad V ค.ศ. ๑๘๗๖) แต่ทรงครองบัลลังก์ได้เพียง ๓ เดือนก็ถูกถอดจากอำนาจเพราะทรงเครียดจัดจนพระสติฟั่นเฟือนเนื่องจากอดีตสุลต่านอับดุลอะซีซถูกปลงพระชนม์อย่างทารุณพร้อมกับเสนาบดีคนสนิทอีก ๒ คน ทั้งพระองค์ก็ไม่อาจแก้ไขวิกฤตการณ์สงครามที่กำลังเผชิญอยู่ กองทัพจึงได้ ทูลเชิญอับดุล ฮามิด (Abdul Hamid) พระอนุชาซึ่งมีแนวความคิดเสรีนิยมเชิงอนุรักษ์ขึ้นเป็นสุลต่านเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๘๗๖ เฉลิมพระนามสุลต่านอับดุลฮามิดที่ ๒ (Abdul Hamid II ค.ศ. ๑๘๗๖-๑๙๐๙) โดยมีเงื่อนไขว่าพระองค์จะต้องสนับสนุนการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ ทรงยอมรับเงื่อนไข แต่ต่อมาเมื่อมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้พระองค์พิจารณาในเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๗๖ ก็ทรงพยายามแก้ไขต่อรองที่จะรักษาพระราชอำนาจของสุลต่านไว้ให้ได้มากที่สุดขณะเดียวกันทรงแสดงพระองค์ต่อต้านการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบที่จะลดอำนาจของสุลต่าน
     ใน ค.ศ. ๑๘๗๖ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ในคาบสมุทรบอลข่าน เจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีแห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นในค.ศ. ๑๘๗๑ พยายามหาทางแก้ไขเพื่อมิให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจที่ ต่างเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี บิสมาร์คเชิญผู้แทนของจักรวรรดิออสเตรียฮังการีและรัสเซียซึ่งเป็นภาคีของสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund)* มาประชุมกันที่กรุงเบอร์ลินในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๗๖ โดยร่วมกันกำหนดมาตรการบีบบังคับจักรวรรดิออตโตมันให้ปฏิรูปการปกครองในบัลแกเรีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ทั้งจำกัดขอบเขตอำนาจของออตโตมันในดินแดนยุโรปที่ แอลเบเนีย ทางฝั่งทะเลอีเจียนตอนเหนือ และแคว้นเทรซทางตะวันออก ที่ประชุมได้ส่งมติดังกล่าวที่ เรียกกันว่าบันทึกช่วยจำแห่งเบอร์ลิน (Berlin Memorandum) ไปให้ประเทศมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ รับทราบด้วย ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๗๖ อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรีย-ฮังการี เยอรมนี และรัสเซียได้ส่งผู้แทนไปประชุมที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลร่วมกับเสนาบดีว่าการกระทรวงต่างประเทศของจักรวรรดิออตโตมันซึ่งเป็นประธานการประชุมเพื่อวางแนวทางการดำเนินงานตามมติที่ตกลงไว้ ในชั้นต้นออตโตมันปฏิเสธที่จะยอมรับเงื่อนไขที่มหาอำนาจตะวันตกกำหนดแต่ระหว่างการประชุมมีรายงานว่าสุลต่านพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วและจะดำเนินการปรับปรุงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย ผู้แทนของประเทศต่าง ๆ จึงเดินทางกลับประเทศเพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องประชุมกันต่อไป
     สุลต่านอับดุล ฮามิดที่ ๒ ทรงประกาศใรัฐธรรมนูญฉบับแรกของจักรวรรดิเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๗๖ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญของปรัสเซียโดยแยกอำนาจเป็น ๓ ฝ่ายคือฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐบาล นิติบัญญัติหรือรัฐสภา และตุลาการซึ่งต่างมีอำนาจอิสระ รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อสุลต่านสุลต่านมีอำนาจให้ความเห็นชอบการออกกฎหมายแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและประกาศเปิด-ปิดสมัยประชุมรัฐสภา มีการระบุเป็นทางการครั้งแรกว่าสุลต่านทรงดำรงตำแหน่งคอลีฟะห์ (Khalifah) หรือกาหลิบ (Caliph) ผู้นำฝ่ายศาสนาของโลกอิสลาม ซึ่งความเป็นจริงสุลต่านออตโตมันทุกพระองค์สืบทอดตำแหน่งนี้หลังจากยึดอียิปต์ได้ใน ค.ศ ๑๕๑๖ ให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และระบุว่าจักรวรรดิจะแบ่งแยกไม่ได้นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (Bill of Rights) และเน้นความเสมอภาคและเสรีภาพตามกฎหมายของประชาชนทุกเชื้อชาติในจักรวรรดิ แต่ในมาตราที่ ๑๑๓ ของรัฐธรรมนูญยังคงให้อำนาจพิเศษแก่สุลต่านเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ความไม่สงบที่ บั่นทอนความมั่นคงของจักรวรรดิให้ทรงสามารถเนรเทศผู้เป็นภัยต่อจักรวรรดิได้ ดังนั้น มหาอำนาจ ตะวันตกจึงเห็นว่ารัฐธรรมนูญของตุรกียังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และเรียกร้องให้มีการแก้ไข แต่สุลต่านปฏิเสธ รัสเซียจึงเห็นเป็นโอกาสบุกโจมตีจักรวรรดิออตโตมันในบริเวณเทือกเขาคอเคซัส และ ทางคาบสมุทรบอลข่านด้วยข้ออ้างว่าเพื่อช่วยปกป้องชนเผ่าสลาฟและประกาศสงครามเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๘๗๗
     ในระยะแรกของสงครามรัสเซีย-ตุรกี (Russo-Turkish War ค.ศ. ๑๘๗๗-๑๘๗๘)* กองทัพเติร์กสามารถต้านการบุกของรัสเซียได้นานถึง ๖ เดือน แต่ในปลาย ค.ศ. ๑๘๗๗ รัสเซียก็รุกคืบหน้าเข้ามายังพื้นที่ตอนในจนเกือบถึงชานกรุงคอนสแตนติโนเปิล ในช่วงที่ทัพรัสเซียบุกเข้าใกล้เมืองหลวง สุลต่านฮามิดที่ ๒ ซึ่งกำลังมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐสภา ทั้งยังถูกโจมตีว่าล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสงครามและรัฐบาลฉ้อฉลและไร้ประสิทธิภาพ สุลต่านจึงใช้ข้ออ้างของวิกฤตการณ์สงครามประกาศยุบสภาสมัยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๗๘ การยุบสภาครั้งนี้จึงเป็นการสิ้นสุดของสมัยทาซีมัตหรือสมัยปฏิรูป และจักรวรรดิออตโตมันก็ไม่มีการประชุมสภาอีกเป็นเวลานานถึง ๓๐ ปี นอกจากนี้ สุลต่านยังกวาดล้างฝ่ายเสรีนิยมและทรงจัดตั้งหน่วยตำรวจลับขึ้นเพื่อพิทักษ์คุ้มครองพระองค์และเพื่อรักษาพระราชอำนาจให้มั่นคง
     สงครามรัสเซีย-ตุรกีสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของตุรกีโดยไม่สามารถสกัดกั้นกองทัพรัสเซียที่รุกคืบจนถึงเมืองซานสเตฟาโน (San Stefano) ซึ่งห่างจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลเพียง ๑๖ กิโลเมตรเท่านั้นและถูกบีบให้ต้องทำสนธิสัญญาซานสเตฟาโน (Treaty of San Stefano) กับรัสเซียเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ ในสนธิสัญญาฉบับนี้บัลแกเรียได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐเอกราชที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ครอบคลุมตั้งแต่ทะเลอีเจียนจนถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของมาซิโดเนีย ส่วนโรมาเนีย เซอร์เบีย และมอนเตเนโกรก็ได้รับเอกราชทั้งมอนเตเนโกรยังได้ดินแดนเพิ่มเติม รัสเซียได้ดอบูรจา (Dobruja) เบสซาราเบียการ์ส (Kars) และอาร์ดาฮาน (Ardahan) ทางตะวันออกของจักรวรรดิ รวมทั้งค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก นอกจากนี้ ตุรกียังผ่อนปรนความเข้มงวดในการปกครองชนชาติกลุ่มน้อยต่าง ๆ ตามข้อเรียกร้องของรัสเซีย ทั้งต้องให้การค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยแก่พวกเคิร์ด (Kurds) และ อาร์เมเนีย (Armenia) ด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ ต่างต่อต้านสนธิสัญญาซานสเตฟาโนเพราะเห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้รัสเซียมีอิทธิพลในคาบสมุทรบอลข่าน ทั้งยังทำลายดุลแห่งอำนาจในยุโรปตะวันออกอีกด้วย อังกฤษจึงเรียกร้องให้จัดการประชุมชาติมหาอำนาจเพื่อพิจารณาทบทวนสนธิสัญญาซานสเตฟาโนและเยอรมนีได้โน้มน้าวรัสเซียให้เข้าร่วมประชุมด้วยซึ่งนำไปสู่การประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน (Congress of Berlin) ระหว่างวันที่ ๑๓ มิถุนายนถึงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ ผลสำคัญของการประชุมคือ จักรวรรดิออตโตมันสูญสิ้นอำนาจในดินแดนในยุโรปเกือบทั้งหมด  ดินแดนบัลแกเรียถูกทอนลงและมีฐานะเป็นรัฐกึ่งเอกราชใต้การปกครองของออตโตมัน ซึ่งทำให้บัลแกเรียไม่พอใจอย่างมากและยังคงกล่าวอ้างตลอดเวลาว่าเส้นพรมแดนที่ถูกต้องของประเทศคือเส้นเขตแดนที่เคยกำหนดไว้ในสนธิสัญญาซานสเตฟาโน ส่วนเซอร์เบีย มอนเตเนโกร และโรมาเนียต่างได้รับการรับรองเอกราช รัสเซียได้ครอบครองคอเคซัสและเซาเทิร์นเบสซาราเบีย ออสเตรียฮังการี

ได้สิทธิอารักขาและปกครองบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ทั้งได้รับค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก ส่วน อังกฤษได้สิทธิบริหารเกาะไซปรัส เพื่อใช้เป็นฐานทัพ เรือโดยมีเงื่อนไขว่าต้องปกป้องจักรวรรดิออตโตมันต่อไปด้วย ความตกลงสำคัญๆ ในสนธิสัญญาเบอร์ลินมีผลบังคับใช้ ๓๐ ปี
     หลังการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน สุลต่านอับดุลฮามิดที่ ๒ ทรงพยายามปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตกครั้งใหญ่ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวยุโรปมาลงทุนด้านเศรษฐกิจและพัฒนาด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมทั้งการคมนาคมขนส่ง มีการขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟและโทรเลขไปทั่วจักรวรรดิเพื่อใช้ควบคุมราชการในส่วนหัวเมืองต่าง ๆ ตลอดจนสอดส่องความเคลื่อนไหวทางการเมืองในดินแดนต่าง ๆ ภายในจักรวรรดิใน ค.ศ. ๑๙๐๐ รถไฟและเรือกลไฟก็มีบทบาทสำคัญแทนการขนส่งแบบดั้งเดิมที่ใช้แรงงานสัตว์และเรือ ชุมชนเมืองขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งประชากรในเมืองใหญ่ต่างก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น อาทิใน ค.ศ. ๑๙๑๒ กรุงคอนสแตนติโนเบิลมีประชากร ๑,๑๒๕,๐๐๐ คน อิซมีร์ (Izmir) ๑๑๐,๐๐๐ คน และ ซาลอนิกา ๑๕๐,๐๐๐ คน เป็นต้น นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาแบบตะวันตกก็ขยายตัวมากขึ้นและใน ค.ศ. ๑๙๐๐ มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยอิสตันบูลขึ้นแนวความ คิดเสรีนิยมจึงแพร่กระจายไปในหมู่ปัญญาชนโดยเฉพาะ พวกแพทย์และทหาร ปัญญาชนเหล่านี้จำนวนหนึ่งใน เวลาต่อมาได้จัดตั้งสมาคมลับขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๗ โดยมีชื่อเรียกว่าคณะกรรมาธิการเพื่อการรวมตัวและความก้าวหน้าหรือซียูพี (Committee of Union and Progress-CPU) ซึ่งผู้ปฏิบัติการในเวลาต่อมารู้จักกันโดยทั่วไป ในชื่อกลุ่มยังเติร์ก (Young Turks)* หรือเติร์กหนุ่มสมาชิกประกอบด้วยกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นนายทหารปัญญาชน และข้าราชการหัวก้าวหน้าที่ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบบเครือญาติซึ่งสืบทอด อำนาจในแวดวงเครือญาติของชนชั้นนำที่ แวดล้อมสุลต่าน ในเวลาต่อมากลุ่มยังเติร์กยังมีบทบาทสำคัญในการวางแผนโค่นอำนาจสุลต่าน
     นอกจากการพยายามปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยแล้ว สุลต่านยังสร้างความนิยมด้วยการสนับสนุนส่งเสริมศาสนาอิสลามและเอาใจชาวอาหรับภายในจักรวรรดิด้วยการให้รับราชการในราชสำนัก มีการสร้างสุเหร่าในนครต่าง ๆ ของพวกอาหรับและส่งเสริมการเดินทางไปจาริกบุญที่ นครเมกกะ โดยสร้างทางรถไฟสายฮิญาซ (Hijaz) จากเมืองดามัสกัสไปนครเมดีนา มีระยะทางถึง๑,๒๘๐ กิโลเมตรซึ่งทำให้การเดินทางไป จาริกบุญมีความสะดวกมากขึ้นเส้นทางรถไฟสายนี้สร้างด้วยเงินบริจาคของชาวมุสลิมทั้งหมด แต่วัตถุ ประสงค์สำคัญที่ แฝงเบื้องหลังเข้าใจกันว่าสุลต่านทรง ประสงค์จะดูแลอาระเบียให้อยู่ใต้การควบคุมขณะเดียว กันพระองค์ก็ให้ทรงนำตัวฮูซายน์ (Husayn) ผู้นำแห่งนครเมกกะและเป็นเชื้อสายของศาสดามุฮัมมัดมาพำนักในเมืองหลวงด้วยเพื่อคุมตัวเป็นเสมือนตัวประกันเพื่อป้องกันการสร้างอำนาจของพวกอาหรับ
     ในทศวรรษ ๑๘๘๐ ฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งขยายอำนาจและอิทธิพลเข้าไปในทวีปแอฟริกาตามนโยบายลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)* ได้เข้ายึดครองดินแดนของตุรกีในแอฟริกา โดยฝรั่งเศสยึด ตูนิเซีย (Tunisia) ใน ค.ศ. ๑๘๘๑ และอังกฤษยึดอียิปต์ใน ค.ศ. ๑๘๘๒ บัลแกเรียก็เข้ายึดอีสต์เทิร์นรูมีเลีย (Eastern Rumelia) ใน ค.ศ. ๑๘๘๕ สุลต่านอับดุล ฮามิดที่ ๒ จึงพยายามรักษาอำนาจการควบคุมดินแดนภายในจักรวรรดิไว้ด้วยการปรับปรุงระบบราชการให้เข้มแข็งและสร้าง เครือข่ายจารชนเพื่อให้รายงานความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในจักรวรรดิโดยตรงต่อสุลต่านและส่วนกลาง ขณะเดียว กันก็สร้างความสัมพันธ์ที่ ใกล้ชิดกับเยอรมนีเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับประเทศตะวันตกอื่นๆ รวมทั้งหวังพึ่งเยอรมนี ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และเศรษฐกิจเยอรมนีจึงช่วย โน้มน้าวให้อิตาลีและออสเตรีย-ฮังการีตลอดจน อังกฤษซึ่งเข้าร่วมด้วยภายหลังเจรจาหารือเพื่อรักษาสันติภาพและสถานภาพเดิมของตุรกีในความตกลงเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Agreement)* ค.ศ. ๑๘๘๗ เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศใดแสวงหาผลประโยชน์จากความอ่อนแอของตุรกีได้ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ เยอรมนี ได้สัมปทานการสร้างทางรถไฟจากคอนยา (Konya) บริเวณช่องแคบบอสพอรัสไปยังอ่าวเปอร์เซียเส้นทาง รถไฟสายนี้ซึ่งเรียกชื่อว่าทางรถไฟเบอร์ลิน-แบกแดด (Berlin-Baghdad Railway)* ทำให้เยอรมนีกับออตโตมันมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้นและใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* ก็เสด็จประพาสกรุงคอนสแตนติโนเบิลเมืองดามัสกัสและนครเยรูซาเลม ความสัมพันธ์อันดีของทั้ง ๒ ประเทศจึงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ออตโตมันตัดสินใจเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ในสงครามโลกครั้งที่ ๑
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ ชาวกรีกบนเกาะครีตและในแคว้นมาซิโดเนียก่อการเคลื่อนไหวเพื่อเข้ารวมตัวกับกรีซ และต่อมาส่งกองกำลังโจมตีที่มั่นของพวกเติร์กในมาซิโดเนีย รัฐบาลกรีกได้ส่งกองทัพเรือไปช่วย ตุรกีจึงประกาศสงครามกับกรีซในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๙๗ และนำไปสู่สงครามกรีซ-ตุรกี (Greco-Turkish War) หลายสัปดาห์ กรีซพ่ายแพ้และกองทัพเติร์กเคลื่อนกำลังเกือบถึงกรุงเอเธนส์และนับเป็นชัยชนะเพียงครั้งเดียวในรัชสมัยสุลต่านอับดุล ฮามิดที่ ๒ ประเทศมหาอำนาจตะวันตกจึงเข้าแทรกแซงโดยบีบบังคับตุรกีให้ถอนกำลังทั้งหมดออกจากกรีซและเกาะครีตโดยตุรกีได้รับค่าปฏิกรรมสงครามและครีตได้สิทธิการปกครองตนเองแต่ยังคงเป็นดินแดนใต้การปกครองของตุรกี ใน ช่วงเวลาที่ตุรกีทำสงครามกับกรีซ กลุ่มยังเติร์กก็เริ่มเคลื่อนไหวโค่นอำนาจสุลต่านอับดุล ฮามิดที่ ๒ และรณรงค์ให้นำรัฐธรรมนูญกลับมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ สุลต่านอับดุล ฮามิดที่ ๒ ทรงสืบทราบแผนคบคิดโค่นอำนาจพระองค์ และทรงปราบปรามกวาดล้างอย่างเด็ดขาด แกนนำกลุ่มยังเติร์กคนสำคัญหนีลี้ภัยออกนอกประเทศไปอยู่ที่กรุงปารีสนครเจนีวา และกรุงไคโร ต่อมาบุคคลเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อต้านสุลต่านจากนอกประเทศและประสานงานการเคลื่อนไหวกับกลุ่มปฏิวัติต่าง ๆ ในประเทศโดยใช้หนังสือพิมพ์การเมืองที่จัดพิมพ์นอกประเทศเป็นสื่อถ่ายทอดความคิดและปลุกระดมทางการเมือง
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๐๗ กลุ่มยังเติร์กทั้งในและนอกจักรวรรดิพยายามประสานงานการเคลื่อนไหวต่อสู้ให้เป็นเอกภาพและเตรียมการก่อการปฏิวัติ ในค.ศ. ๑๙๐๒ มีการจัดประชุมใหญ่ครั้งแรกขึ้นที่กรุงปารีสและมีผู้แทนกลุ่มยังเติร์กเชื้อชาติต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมรวม ๔๗ คน ที่ประชุมมีมติให้โค่นอำนาจสุลต่าน อีก ๕ ปีต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๗ กลุ่มยังเติร์กจัดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ที่กรุงปารีส ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้กลุ่มยังเติร์กต่าง ๆ รวมกันภายใต้การชี้นำคณะกรรมาธิการเพื่อการรวมตัวและความก้าวหน้าหรือซีพียูทั้งยังประกาศความเป็นพันธมิตรกับกลุ่มสมาพันธ์ปฏิวัติอาร์เมเนีย (Armenian Revolutionary Federation) ซึ่งเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองจากออตโตมันและต่อต้านการใช้ความรุนแรงของพวกเติร์กต่อชาวอาร์เมเนีย ซียูพีได้ให้สัญญาว่าหากยังเติร์กได้อำนาจก็จะสนับสนุนอาร์เมเนียให้ปกครองตนเอง อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวโค่นอำนาจสุลต่านของกลุ่มต่าง ๆ  ก็ยังไม่เข้มแข็งพอและการที่กองทัพยังคงสนับสนุนสุลต่านอยู่ก็ทำให้ฝ่ายต่อต้านไม่กล้าดำเนินการใด ๆ มากนัก
     ในกลาง ค.ศ. ๑๙๐๘ กองทัพน้อยที่ ๓ ที่ประจำการในมาซิโดเนียก่อการเคลื่อนไหวเตรียมการยึดอำนาจ สุลต่านจึงส่งกองทัพไปปราบปรามแต่เหล่าทหารในกองทัพปฏิเสธที่จะต่อสู้กับฝ่ายกบฏทั้งนายพลเชมซี ปาชา (Chemsi Pasha) ผู้นำกองทัพก็ถูกสังหารเสียชีวิตต่อหน้าฝูงชนขณะก้าวออกจากที่ทำการโทรเลขหลังจากส่งรายงานไปยังสุลต่าน พันตรี อะห์เมด นิยาซี (Ahmed Niyazi) ผู้บัญชาการกองทัพน้อยที่ ๓ ซึ่งหวาดเกรงว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการไต่สวนและตั้งข้อหากบฏแก่เขาจึงนำกองทัพและพลเรือนรวม ๒๐๐ คน อพยพออกจากค่ายประจำการ ทั้งเปลี่ยนสถานการณ์ให้ เป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ กลุ่มยังเติร์กและกลุ่มต่อต้านอื่น ๆ จึงเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวด้วยและนำไปสู่การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๘ ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่ปราศจากการนองเลือด สุลต่านอับดุล ฮามิดที่ ๒ ทรงตระหนักว่ากองทัพไม่สนับสนุนพระองค์จึงยินยอมพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๘ โดยให้นำรัฐธรรมนูญกลับมาใช้ปกครองและให้มีการเลือกตั้งรวมทั้งการยกเลิกหน่วยงานจารชนของรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตาม อีก ๙ เดือนต่อมาในเดือน เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๙ สุลต่านพยายามยึดอำนาจกลับคืนแต่กลุ่มยังเติร์กสืบทราบเรื่องได้ก่อน จึงก่อการปฏิวัติและขับสุลต่านอับดุล ฮามิดที่ ๒ ออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๘ และแต่งตั้งพระอนุชา เป็นสุลต่านแทน เฉลิมพระนามสุลต่านเมห์เมดที่ ๕ (Mehmed V ค.ศ. ๑๙๐๘-๑๙๑๘) แต่สุลต่านพระองค์ ใหม่ทรงขาดวิสัยทัศน์ในการปกครองและไม่เคยติดตามข่าวสารทางหนังสือพิมพ์เลยในรอบ ๒๐ ปี
     การปฏิวัติของพวกยังเติร์กได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในออตโตมันโดยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศขณะเดียวกันในวันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๘ ออสเตรียฮังการีซึ่งก็เกรงว่ารัฐบาลตุรกีใหม่จะเข้ามามีอิทธิพลในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาและเพื่อป้องกันไม่ให้ขบวนการรวมกลุ่มชาติสลาฟซึ่งมีเซอร์เบียเป็นผู้นำดำเนินการเคลื่อนไหวในหมู่พวกสลาฟบอสเนียจึงเห็นเป็นโอกาสเข้ายึดครองบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาในเดือน เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๙ เป็นผลให้เกิดวิกฤตการณ์บอสเนีย (Bosnian Crisis) ค.ศ. ๑๙๐๘ และดึงเอามหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย รัสเซียและเซอร์เบียร่วมกันต่อต้านออสเตรีย-ฮังการีและเรียกร้องให้ออสเตรีย-ฮังการีคืนดินแดนดังกล่าวแก่บอสเนียเยอรมนีซึ่งเป็นพันธมิตรของออสเตรีย-ฮังการีจึงเข้าแทรกแซง โดยประกาศข่มขู่ที่จะใช้กำลังทหารเข้าตัดสินในกรณีที่เซอร์เบียยังคงยืนยันสิทธิในดินแดนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา วิกฤตการณ์ได้คลี่คลายลงเมื่อรัสเซียซึ่งไม่พร้อมทำสงครามยอมเจรจาตกลงรับรองการผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาของออสเตรีย-ฮังการี แลออสเตรีย-ฮังการียอมให้รัสเซียใช้น่านน้ำในช่องแคบบอสพอรัสและดาร์ดะเนลส์ได้ ในช่วงเวลาเดียวกันบัลแกเรียก็ประกาศเอกราชจากตุรกี ตุรกีซึ่งมีสภาพ "คนป่วยหนัก" ก็ต้องยอมรับความเป็นเอกราชของบัลแกเรียในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๐๘ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๑ อิตาลีก็ก่อสงครามอิตาลี-ตุรกี (Italo-Turkish War) เพื่อยึดครองตริโปลี (Tripoli) หรือลิเบีย (Libya) ตุรกีพ่ายแพ้และต้องยอมทำสนธิสัญญาโลซาน (Treaty of Lausanne) ค.ศ. ๑๙๑๒ โดยต้องยกตริโปลีและหมู่เกาะโดเดคะนีส (Dodecanese) ในทะเลอีเจียนให้แก่อิตาลี
     ความพ่ายแพ้ของตุรกีในสงครามกับอิตาลีทำให้บัลแกเรีย มอนเตเนโกร เซอร์เบีย และกรีซรวมตัว กันจัดตั้งสันนิบาตบอลข่าน (Balkan League) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารขึ้นเพื่อร่วมกันแย่งชิงและแบ่งแยกดินแดนมาซิโดเนียที่อยู่ในอำนาจปกครองของออตโตมัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามบอลข่าน (Balkan Wars)* ๒ ครั้ง โดยสงครามบอลข่านครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ และสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ ด้วยความพ่ายแพ้ของตุรกีประเทศสันนิบาตบอลข่านได้ครอบครองเทรซและมาซิโดเนียซึ่งเป็นดินแดนในยุโรปของตุรกีโดยตุรกียังคงมีสิทธิเพียงในคาบสมุทรชาตัลจา (Chatalja) และคาบสมุทรกัลลิโพลีเท่านั้น ขณะเดียวกันอัลแบเนียก็ได้รับการจัดตั้งเป็นประเทศอิสระขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาประเทศสันนิบาตบอลข่านก็ขัดแย้งกันเอง เกี่ยวกับดินแดนที่ได้รับจากตุรกีและนำไปสู่สงครามบอลข่านครั้งที่ ๒ ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ ในสงครามครั้งนี้ตุรกีสนับสนุนกรีซเซอร์เบีย มอนเตเนโกร และโรมาเนียทำสงครามกับบัลแกเรียซึ่งไม่พอใจในส่วนแบ่งของตนและยังสืบทราบว่าเซอร์เบียและกรีซมีแผนการหักหลังตนเพื่อแบ่งมาซิโดเนียกันตามลำพัง แต่บัลแกเรียพ่ายแพ้และต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์ (Treaty of Bucharest)* กับประเทศต่าง ๆ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ โดยสูญเสียดินแดนส่วนใหญ่ที่ได้รับจากสงครามบอลข่านครั้งแรก ในเวลาต่อมาบัลแกเรียจึงสนับสนุนฝ่ายมหาอำนาจกลางในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เพราะหวังจะได้ดินแดนที่สูญเสียในคาบสมุทรบอลข่านคืน
     สงครามในคาบสมุทรบอลข่านทำให้เอนเวอร์ ปาชา (Enver Pasha) ผู้นำรัฐบาลยังเติร์กซึ่งปกครองประเทศแบบเผด็จการโดยมีสุลต่านเมห์เมดที่ ๕ เป็นเพียงหุ่นเชิดเห็นความจำเป็นที่จะกระชับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเยอรมนีมากขึ้น เอนเวอร์ ปาชาเห็นว่าการเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีจะช่วยป้องกันไม่ให้รัสเซียขยายอำนาจเข้ามาในตุรกีในกรณีที่เกิดสงครามขึ้น เขาจึงขอคำปรึกษาและความร่วมมือทางทหารจากเยอรมนีในการปรับปรุงกองทัพให้เข้มแข็งรวมทั้งสร้างกองทัพเรือ ต่อมาอาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรียฮังการีและพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จประพาสกรุงซาราเยโว นครหลวงของบอสเนียเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๔ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นชนวน นำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑
     ในต้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ ตุรกียังไม่ได้เข้าร่วมรบทันที เอนเวอร์ ปาชาซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๔ ได้ลงนามในสนธิสัญญาลับกับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ โดยมีข้อตกลงว่าตุรกีจะเข้าร่วมในสงครามเป็นฝ่ายเยอรมนีในกรณีที่รัสเซียสนับสนุนเซอร์เบีย และหากกรีซเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ตุรกีจะต้องได้รับหมู่เกาะของกรีซในทะเลอีเจียนรวมทั้งครีตเป็นการตอบแทนเมื่อเยอรมนีมีชัยชนะในสงคราม ในกลางเดือนเดียวกันนั้นเรือลาดตระเวนของเยอรมัน ๒ ลำซึ่งหนีจากการไล่ล่าของกองเรืออังกฤษเข้ามาหลบในน่านน้ำของตุรกีซึ่งเป็นเขตที่เป็นกลาง ตุรกีไม่ยอมยึดเรือไว้และในเวลาต่อมายังมีการจัดทำเอกสารปลอมว่ากองทัพเรือตุรกีได้ซื้อเรือทั้ง ๒ ลำในปลายเดือนตุลาคม เรือลาดตระเวนดังกล่าวได้แล่นโจมตีเมืองต่าง ๆ ของรัสเซียตามชายฝั่งทะเลดำ รัสเซียจึงประกาศสงครามกับตุรกีเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๔ และตามด้วยอังกฤษและฝรั่งเศสในอีก ๓ วันต่อมา
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๕ ตุรกีบุกโจมตีคลังน้ำมันของอังกฤษที่เมืองบัสรา (Basra) และเทือกเขาคอเคซัสแต่ประสบความล้มเหลวในการรบทั้ง ๒ แห่ง อังกฤษยังสามารถยับยั้งกองทัพตุรกีซึ่งโจมตีอียิปต์ในเดือนกุมภาพันธ์ และในเวลาเดียวกันอังกฤษก็สนับสนุนพวกอาหรับชาตินิยมที่ถือโอกาสก่อกบฏต่อพวกเติร์กให้สกัดทัพตุรกีที่มุ่งจะยึดครองนครเมดีนา และทำลายเส้นทางรถไฟฮิญาซซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงสำคัญระหว่างเมืองดามัสกัสซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการทหารของกองกำลังฝ่ายตุรกี-เยอรมันในตะวันออกกลางกับนครเมดีนา ทอมัส เอดเวิร์ด ลอว์เรนซ์ (Thomas Edward Lawrence) นายทหารชาวอังกฤษซึ่งได้รับฉายาว่า "ลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย" (Lawrence of Arabia) มีบทบาทสำคัญในการวางแผนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีให้ฝ่ายอาหรับได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่องและในที่สุดก็สามารถยึดเมืองดามัสกัสจากฝ่ายตุรกีได้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘
     เมื่อรัสเซียเริ่มเพลี่ยงพล้ำในแนวรบด้านตะวันออก อังกฤษได้วางแผนช่วยเหลือรัสเซียโดยยกพล ขึ้นบกที่คาบสมุทรกัลลิโพลีเพื่อเข้าควบคุมช่องแคบดาร์ดะเนลส์และแยกตุรกีให้ออกจากฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่การรบที่กัลลิโพลี (Gallipoli Campaign)* ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๑๕ ก็ล้มเหลวกองทัพตุรกีซึ่งมีมุสตาฟา เคมาล ปาชาเป็นผู้บังคับบัญชาสามารถตั้งรับการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งทางบกและทางน้ำได้และนับเป็นชัยชนะที่ โดดเด่นเพียง ครั้งเดียวของตุรกีในสงครามโลก นายพลเฮอร์เบิร์ต เอช. คิชเนอร์ (Herbert H. Kitchener)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอังกฤษซึ่งเดินทางมาตรวจสมรภูมิที่คาบสมุทรกัลลิโพลีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๕ จึงตัดสินใจยุติการสู้รบและให้ถอนกองกำลังทั้งหมดออกจากคาบสมุทรกัลลิโพลีระหว่างวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ จนถึงวันที่ ๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๖ ได้อย่างปลอดภัย
     ในช่วงที่ตุรกีติดพันการรบที่กัลลิโพลี อาร์เมเนียก็เคลื่อนไหวต่อต้านตุรกีและสังหารชาวมุสลิมจำนวนมากในภูมิภาควานเกอลู (Van Gölü) อย่างเหี้ยมโหดในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๕ ตุรกีก็ตอบโต้ด้วยการกวาดล้างเข่นฆ่าชุมชนชาวอาร์เมเนียในทางตะวันออกของเอเชียไมเนอร์และซิลีเซีย (Cilicia) ประมาณว่ามีชาวอาร์เมเนียกว่า ๑ ล้านคนถูกสังหารและในจำนวนนี้มีพลเมืองจำนวนหนึ่งหนีลี้ภัยไปฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ อังกฤษและฝรั่งเศสได้ทำความตกลงลับที่เรียกว่าความตกลงไซก์-ปีโก (Sykes-Picot Agreement) เพื่อแบ่งเขตอิทธิพลระหว่างกันในการควบคุมพื้นที่ด้านเอเชียตะวันออกของตุรกีหลังสงครามสิ้นสุดลงโดยอังกฤษจะควบคุมจอร์แดน อิรัก และบริเวณรอบ ๆ เมืองไฮฟา (Hifa) เพื่อเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนส่วนฝรั่งเศสจะได้ควบคุมตอนเหนือของอิรัก ซีเรียและ เลบานอน มหาอำนาจทั้งสองจะร่วมกันกำหนดเส้นเขตแดนภายในระหว่างดินแดนต่าง ๆ กันอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้จักรวรรดิออตโตมันแตกสลายและมีสถานภาพทางการเมืองอ่อนแอมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ในปลายสงครามตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๑๖ เป็นต้นมากองทัพตุรกีก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง และจำนวนทหารหนีทัพก็มีมากขึ้นตามลำดับ

     ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ซึ่งยึดอำนาจการปกครองในรัสเซียได้ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ได้ประกาศถอนตัวออกจากสงครามโลกที่กำลังดำเนินอยู่ด้วยการทำสนธิสัญญาเบรส-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest- Litovsk)* กับเยอรมนี รัฐบาลโซเวียตยังประกาศล้มเลิกความตกลงลับในความตกลงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinopole Agreement)* ที่รัฐบาลซาร์ได้ทำกับประเทศพันธมิตรตะวันตกในการแบ่งดินแดนของตุรกีนโยบายดังกล่าวของโซเวียตมีส่วนทำให้ตุรกีรอดพ้นจากการยึดครองของประเทศพันธมิตรตะวันตกและ ทำให้มีการปรับแก้ไขความตกลงกันใหม่อย่างไรก็ตามการที่ตุรกีพ่ายแพ้ต่อกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่าง ต่อเนื่องและเกิดวิกฤตการณ์ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมภายใน กอปรกับเมื่อกองทัพฝ่ายมหาอำนาจกลางมีทีท่าจะแพ้สงครามอย่างแน่นอน ตุรกีจึงตัดสินใจประกาศยอมแพ้โดยลงนามในความตกลงหยุดยิงที่มูดรอส (Mudros Armistice) กับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ รัฐบาลสุลต่านเมห์เมดที่ ๖ (Mehmed VI ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๒) พยายามร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อหวังจะได้รับการผ่อนปรนในการทำสนธิสัญญาสันติภาพ ในช่วงเวลาเดียวกันกองทัพสัมพันธมิตรก็เข้ายึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลและกองทหารของกรีซและอิตาลีก็เห็นเป็นโอกาสเข้ายึดครองดินแดนตุรกีแถบชายฝั่งทะเลตะวันตกและทางด้านใต้ของอะนาโตเลีย ชาวตุรกีที่รักชาติจึงเคลื่อนไหวต่อต้าน มุสตาฟา เคมาล ปาชาได้รวบรวมกำลังพวกชาตินิยมเตรียมการต่อสู้เพื่อเอกราชและอธิปไตยของชาวเติร์ก สุลต่านตอบโต้ด้วยการปลดเขาออกจากตำแหน่งแต่เคมาลก็ต่อสู้ต่อไปในฐานะพลเรือนทั้งได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของพวกชาตินิยมด้วย
     ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๙ เคมาลจัดประชุมคณะกรรมการผู้แทนของสหภาพเพื่อปกป้องสิทธิของอะนาโตเลียและรูมีเลีย (The Representative Committee of the Union for the Defense of Rights of Anatolia and Rumelia) ขึ้นโดยเป็นเสมือนรัฐบาลของชาวเติร์กทั้งในเอเชียและยุโรป มีการออกกติกาสัญญาแห่งชาติ (National Pact) ซึ่งมีเนื้อหาเพื่อสร้างความสัมพันธอันดีระหว่างประชาชนในภูมิภาคดังกล่าวกับรัฐบาลตุรกีทั้งในด้านกฎหมายและการเงิน แต่ก็มีการเรียกร้องให้สุลต่านดำเนินการให้มีสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ การเคลื่อนไหวดังกล่าวของเคมาลมีส่วนทำให้สุลต่านต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ ต่อมาในเดือนมกราคมรัฐสภาใหม่ที่ เปิดประชุมได้ลงมติยอมรับกติกาสัญญาแห่งชาติเป็นแนวทางในการจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพ ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลอยู่จึงสั่งจับสมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งและเนรเทศไปเกาะมอลตา (Malta) ฝ่ายชาตินิยมตอบโต้ด้วยการเข้ามาตั้งมั่นในเมืองอังโกรา [Angora - เปลี่ยนชื่อเป็นอังการา (Ankara) ใน ค.ศ. ๑๙๓๐] และประกาศจัดตั้งสมัชชาใหญ่แห่งชาติ (Grand National Assembly) ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยอ้างว่ารัฐบาลสุลต่านถูกต่างชาติควบคุมบงการและเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของชาวมุสลิมที่จะต่อต้านการครอบงำดังกล่าว ในวันเดียวกันนั้นที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งชาติก็จัดตั้งรัฐบาลขึ้นและเคมาลได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ต่อมาในเดือน มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๑ มีการประกาศชื่อประเทศเป็น "ตุรกี"
     หลังการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ค.ศ. ๑๙๑๙ สิ้นสุดลง สุลต่านเมห์เมดที่ ๖ ได้ลงนามในสนธิสัญญาแซฟวร์ (Treaty of Sevres)* เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ สนธิสัญญาฉบับนี้มีเงื่อนไขการลงโทษตุรกีที่รุนแรงเพราะต้องสูญเสียดินแดนเป็นจำนวนมากจนเหลือเพียงดินแดนรอบ ๆ กรุงคอนสแตนติโนเปิลและดินแดนบางส่วนในอะนาโตเลียต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล และลดกำลังทัพตลอดจนเสียสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ชาวเติร์กไม่พอใจสนธิสัญญาฉบับนี้และสนับสนุนเคมาลให้ ก่อการปฏิวัติล้มล้างอำนาจของสุลต่าน ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๐ กรีซก็ถือโอกาสเข้ายึดครองดินแดนของตุรกีด้วย เคมาลจึงนำกองทัพต่อสู้ขับไล่กรีซจนมีชัยชนะและได้เทรซตะวันออกและเอดีร์เนคืน เขาจึงเป็นที่นิยมและมีอำนาจมากขึ้นจนในที่สุดกองกำลังชาตินิยมของเขาก็สามารถขับไล่ฝ่ายสัมพันธมิตรในเวลาต่อมาฝ่ายสัมพันธมิตรต้องยอมตกลงที่จะให้แก้ไขสนธิสัญญาแซฟวร์ซึ่งนำไปสู่การประชุมเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพที่เมืองโลซาน (Lausanne) สวิตเซอร์แลนด์ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๒ ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ ก่อนหน้าการประชุมที่เมืองโลซาน สมัชชาใหญ่แห่งชาติก็ประกาศยกเลิกสถาบันสุลต่านเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ เพื่อให้รัฐบาลของเคมาลเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียว ต่อมา อัครมหาเสนาบดีคนสุดท้ายของรัฐบาลสุลต่าน ก็ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๒ ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายนต่อมาสุลต่านเมห์เมดที่ ๖ สุลต่านองค์สุดท้ายของตุรกีก็เสด็จลี้ภัยในต่างประเทศอย่างไรก็ตาม รัฐบาลของเคมาลก็ไม่ประสงค์จะให้ชาว เติร์กส่วนใหญ่ตื่นตระหนกกับการยกเลิกจารีตธรรมเนียมเดิมทั้งหมดจึงเลือกอับดุล เมจิดที่ ๒ ขึ้นดำรงตำแหน่งคอลีฟะห์โดยไม่ให้มีอำนาจทางการเมืองและไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งสุลต่านที่ยุบลง
     ในการประชุมที่เมืองโลซานระหว่างวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๒ ถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๓ และระหว่างวันที่ ๒๓ เมษายน -๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ เคมาลประสบความสำเร็จอย่างมากในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาแซฟวร์ ตุรกีได้ดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืนเกือบหมด และทำให้ความขัดแย้งระหว่าง มหาอำนาจสัมพันธมิตรกับตุรกีสิ้นสุดลง ตุรกีจึงเป็นประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ ๑ เพียงชาติเดียวที่สามารถปฏิเสธการบีบบังคับของประเทศที่ ชนะสงครามได้ สนธิสัญญาโลซาน (Treaty of Lausanne)* ที่ ลงนาม ระหว่างตุรกีกับประเทศสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ จึงเป็นการรับรองสถานภาพ ความเป็นประเทศของตุรกีและกำหนดเขตแดนใหม่ของ ประเทศดังที่ เป็นอยู่ในปัจจุบันต่อมา เคมาลก็สถาปนาสาธารณรัฐตุรกีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกและได้รับสมญานามว่า "บิดาของชาวเติร์ก" (Atatürk) ต่อมามีการประกาศยกเลิกตำแหน่งคอลีฟะห์และปิดสถาบันการศึกษาของฝ่ายศาสนาเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ และให้ขับพระราชวงศ์ทุกพระองค์ของราชวงศ์ออสมันออกนอกประเทศ รวมทั้งให้ยุบศาลตามกฎหมายศาสนาและโอนหน้าที่ทางการศาลแก่ฝ่ายบ้านเมืองมี การประกาศรัฐธรรมนูญของประเทศเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๔ โดยศาสนาอิสลามยังคงเป็นศาสนาประจำชาติแต่ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๘ ได้ยกเลิกข้อกำหนดเรื่องศาสนาประจำชาติทำให้ตุรกีกลายเป็นสาธารณรัฐที่ไม่เกี่ยวกับศาสนจักร (secular republic) อีกต่อไป การสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีจึงนับเป็นการสิ้นสลายอย่างสมบูรณ์ของจักรวรรดิออตโตมันซึ่งดำรงอยู่มายาวนานนับแต่เริ่มสถาปนาใน ค.ศ. ๑๒๙๙ รวมระยะเวลา ๖๒๓ ปีโดยมีสุลต่านในราชวงศ์ออสมันเพียงราชวงศ์เดียวปกครองรวม ๓๖ พระองค์.


ในประวัติศาสตร์ออตโตมันนับแต่สมัยของสุลต่านสุไลมานที่ ๑ ( ค.ศ. ๑๕๒๐-๑๕๖๖) เป็นต้นมา พระราชชนนีซึ่งมีตำแหน่งเรียกว่า “สุลต่าน วาลิเด” (Sultan Valide) ทรงเป็นประมุขสูงสุดของฮาเร็มเมื่อพระนางนูร์บานู (Nurbanu) พระราชมารดาของสุลต่านสุไลมานที่ ๑ สิ้นพระชนม์โรเซลานา (Roxelana) นางทาสชาวรัสเซียพระมเหสีซึ่งมีชื่อเรียกใหม่ว่า ฮูร์เร็มสุลต่าน (Hurrem Sultan) ได้สืบทอดตำแหน่งสุลต่านวาลิเดซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญของจักรวรรดิเพราะพวกออตโตมันมีความคิดว่า บุรุษสามารถมีภรรยาได้หลายคน แต่มีมารดา ได้เพียงคนเดียวเท่านั้นและมารดาก็เป็นเพียงบุคคลเดียวที่ เขาสามารถไว้วางใจได้พระนางสามารถตั้งตนเป็นใหญ่และปกครองฮาเร็มตลอดจนก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองในออตโตมันจนสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๕๕๘ นับแต่สมัยของพระนาง จักรวรรดิออตโตมันก็ตก อยู่ในยุคการปกครองของสตรี (Reign of Woman) หรือ “ยุคสุลต่านหญิง” (Sultanate of Women)ที่ ฮาเร็มได้ปกครองเหนือสุลต่าน อย่างแท้จริงพระราชชนนีมีบทบาทและพระราชอำนาจสูงสุดในฮาเร็มแทนสุลต่าน ทรงมีหน้าที่ กำกับดูแลเหล่ามเหสีเทวีและนางในทุกคน อีกทั้งตำแหน่งพระราชชนนีก็เป็นที่ หมายปองของนางในฮาเร็มทุกคนด้วย มีผลให้ผู้อยู่ในตำแหน่งมเหสีต่างวางแผนเพื่อผลักดันให้โอรสของ ตนเองได้สืบบัลลังก์สุลต่าน อันเป็นหนทางไปสู่อำนาจในการปกครองจักรวรรดิด้วยถ้าหากโอรสทรงเป็นสุลต่านที่ อ่อนแอ นับแต่สมัยสุลต่าน สุไลมานที่ ๑ สุลต่านแทบทุกพระองค์ล้วนอ่อนแอทั้งสิ้นจึงเป็นการเปิดโอกาสให้สุลต่านวาลิเดเข้าบริหารประเทศ ฮาเร็มกลายเป็นศูนย์ กลางของการเมืองภายในประเทศ การวางแผน การยึดครองอำนาจ การติดสินบนและอื่นๆ ส่วนสุลต่านก็ถูกบรรดานางในฮาเร็มควบคุมและมอบเมาด้วยสิ่งเย้ายวนต่าง ๆ จนลุ่มหลงและละเลยต่อพระราชกิจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ ทำให้จักรวรรดิออตโตมันที่ เคยรุ่งเรืองต้อง ซบเซาลงเป็นลำดับด้วย

คำตั้ง
Ottoman Empire
คำเทียบ
จักรวรรดิออตโตมัน
คำสำคัญ
- สนธิสัญญาแซฟวร์
- สหภาพเพื่อปกป้องสิทธิของอะนาโตเลียและรูมีเลีย
- อังโกรา, เมือง
- มอลตา, เกาะ
- ความตกลงหยุดยิงมูดรอส
- เมห์เมดที่ ๖, สุลต่าน
- สมัชชาใหญ่แห่งชาติ
- วานเกอลู, ภูมิภาค
- เยอรมัน, จักรวรรดิ
- กติกาสัญญาแห่งชาติ
- ความตกลงคอนสแตนติโนเปิล
- สันนิบาตสามจักรพรรดิ
- มูราดที่ ๕, สุลต่าน
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒, ซาร์
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สงครามไครเมีย
- ขบวนการรวมกลุ่มสลาฟ
- พรรคเสรีนิยม
- มอลท์เคอ, เฮลมุท คาร์ล แบร์นฮาร์ด ฟอน
- ระบบกิลด์
- กฎหมายหลักพื้นฐาน
- การรวมชาติอิตาลี
- เฮอร์เซโกวีนา
- บันทึกช่วยจำแห่งเบอร์ลิน
- วิกตอเรีย, สมเด็จพระราชินีนาถ
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- แกลดสโตน, วิลเลียม อีวาร์ต
- สงครามอิสรภาพกรีก
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- เมห์เมด ฟูอัต ปาชา
- เมห์เมด อาลี ปาชา
- เบสซาราเบีย
- อับดุล เมจิดที่ ๑
- อับดุล อะซีซ, สุลต่าน
- สนธิสัญญาอันเกียร์สเกเลสซี
- ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย, ราชอาณาจักร
- บอสเนีย, แคว้น
- สนธิสัญญาบูคาเรสต์
- โดลมาบาห์เช, พระราชวัง
- ทอปกาปึ, พระราชวัง
- คาวัวร์, เคานต์คามิลโล เบนโซ ดิ
- นิโคลัสที่ ๑, ซาร์
- อับดุล เมจิด
- ยุทธนาวีที่นาวารีโน
- ปัญหาช่องแคบ
- ฟรานซิสที่ ๑, จักรพรรดิ
- สงครามรัสเซีย-ตุรกี
- สงครามตุรกี-อียิปต์
- มุฮัมมัด อาลี
- สนธิสัญญาลอนดอน
- เพโลพอนนีซัส, คาบสมุทร
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- มะห์มุดที่ ๒, สุลต่าน
- อะห์เมดที่ ๓, สุลต่าน
- อาซอฟ, เมือง
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- พิธีสารลอนดอน
- ดานูบ, ราชรัฐ
- แคเทอรีนที่ ๒ มหาราช, ซารีนา
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาเบลเกรด
- ปัญหาตะวันออก
- มารอส, แม่น้ำ
- สมัยดอกทิวลิป
- สนธิสัญญากูชุกไกนาร์จี
- คอเคซัส, เทือกเขา
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- เลโอโปลด์ที่ ๑, จักรพรรดิ
- สงครามเหนือครั้งยิ่งใหญ่
- เซลิมที่ ๓, สุลต่าน
- บัก, แม่น้ำ
- นโปเลียนที่ ๑, จักรพรรดิ
- ชาลส์ที่ ๑๒, พระเจ้า
- ยูจีนแห่งซาวอย, เจ้าชาย
- สนธิสัญญาคาร์โลวิทซ์
- ทิสซอ, แม่น้ำ
- ฟาซิล อะห์เมด ปาชา
- ตากันร็อก, เมือง
- บานาต, แม่น้ำ
- เซนตา, เมือง
- ดานูบ, แม่น้ำ
- ปีเตอร์ที่ ๑ มหาราช, ซาร์
- สุลต่านวาลิเด
- โรมานอฟ, ราชวงศ์
- ยุคสุลต่านหญิง
- เยเรวาน
- ยุคการปกครองของสตรี
- นีเปอร์, แม่น้ำ
- โมฮัมเมด ปาชา
- คารา มุสตาฟา ปาชา
- ยุทธการที่อ่าวลีพานโต
- นูร์บานู, พระนาง
- ตูร์ฮาน
- ฮับส์บูร์ก, ราชวงศ์
- โรมันอันศักดิ์สิทธิ์, จักรวรรดิ
- ไซปรัส, เกาะ
- สันนิบาตอันศักดิ์สิทธิ์
- นีซ, เมือง
- เมห์เมดที่ ๔, สุลต่าน
- มูราดที่ ๔, สุลต่าน
- คอรินท์, อ่าว
- ซาลอนิกา
- ไทกริส-ยูเฟรทีส, แม่น้ำ
- ยุทธการที่โมฮัก
- อาปูลยา, เมือง
- เมโสโปเตเมีย, ดินแดน
- แถบวงพระจันทร์เสี้ยวไพบูลย์
- บูดา, กรุง
- ฟรานซิสที่ ๑, พระเจ้า
- วัลเลเคีย, แคว้น
- โอตรันโต, เมือง
- อิสลามบูล, กรุง
- อิสมาอิล, ชาห์
- มอลเดเวีย
- นิกายชีอะฮ์
- ยุทธการที่เมืองชาลดิราน
- กามา, วาสโก ดา
- ซีฟาวิด, ราชวงศ์
- สมัยเรอเนซองซ์
- เซลิมที่ ๑, สุลต่าน
- เมห์เมดผู้พิชิต, สุลต่าน
- เซนต์โซเฟีย, วิหาร
- ทรานซิลเวเนีย
- เทรซ, แคว้น
- นิกายซุนนี
- ดาร์ดะเนลส์, ช่องแคบ
- เมห์เมดที่ ๒, สุลต่าน
- ออสมัน, ราชวงศ์
- โอร์ฮัน
- มูราดที่ ๑, สุลต่าน
- มาซิโดเนีย
- เอเดรียโนเปิล, เมือง
- คอนสแตนติโนเปิล, กรุง
- บูร์ซา, เมือง
- อะเล็กซานเดอร์มหาราช, พระเจ้า
- ยุทธการแห่งที่ราบคอซอวอ
- เอสกิเชฮีร์, แคว้น
- จานิสซารี
- โรมานุสที่ ๔, จักรพรรดิ
- เซิร์บ, พวก
- บอสพอรัส, ช่องแคบ
- อะเล็กซีอุสที่ ๑ คอมนีนุส, จักรพรรดิ
- เอร์ตูกรูอัล
- สงครามครูเสด
- มุสตาฟา เคมาล ปาชา
- กัลลิโพลี, คาบสมุทร
- เซลจูกเติร์ก, ชนเผ่า
- เอเชียไมเนอร์
- เออร์บานที่ ๒, สันตะปาปา
- แมนซีเคิร์ต, เมือง
- เยรูซาเลม, นคร
- กายี, ชนเผ่า
- รูน, อาณาจักรสุลต่านแห่ง
- กาซี เอมิเรต
- สุไลมานผู้เกรียงไกร, สุลต่าน
- สุไลมานที่ ๑, สุลต่าน
- ซานสเตฟาโน, เมือง
- อะนาโตเลีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- อับดุล ฮามิดที่ ๒, สุลต่าน
- โรมันตะวันออก, จักรวรรดิ
- สนธิสัญญาซานสเตฟาโน
- ดอบูรจา
- ตุรกี, จักรวรรดิ
- คณะกรรมาธิการเพื่อการรวมตัวและความก้าวหน้าหรือซียูพี
- การประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน
- เคิร์ด, ชาว
- กรีก, จักรวรรดิ
- อาร์ดาฮาน
- อับดุล ฮามิด
- อาร์เมเนีย
- กลุ่มยังเติร์ก
- มหาอำนาจกลาง
- บอลข่าน, คาบสมุทร
- ทางรถไฟเบอร์ลิน-แบกแดด
- ชาตัลจา, คาบสมุทร
- บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง
- สงครามกรีก-ตุรกี
- เอนเวอร์ ปาชา
- ความตกลงเมดิเตอร์เรเนียน
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
- เชมซี ปาชา
- ตูนิเซีย
- ไบแซนไทน์, จักรวรรดิ
- อีสต์เทิร์นรูมีเลีย
- เลนิน, วลาดีมีร์
- โดเดคะนีส, หมู่เกาะ
- สมาพันธ์ปฏิวัติอาร์เมเนีย
- ลัทธิจักรวรรดินิยม
- บัสรา, เมือง
- อะห์เมด นิยาซี
- ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์, อาร์ชดุ๊ก
- การรบที่กัลลิโพลี
- สงครามบอลข่าน
- วิกฤตการณ์บอสเนีย
- สงครามอิตาลี-ตุรกี
- ความตกลงไซกส์-ปีโก
- เมห์เมดที่ ๕, สุลต่าน
- คิชเนอร์, เฮอร์เบิร์ต เอช.
- โลซาน, เมือง
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- สันนิบาตบอลข่าน
- พรรคบอลเชวิค
- สนธิสัญญาโลซาน
- ลอว์เรนซ์, ทอมัส เอดเวิร์ด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 7.O 753-832.pdf